Royal Development Projects
1. โครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้วขึ้น ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานของ ฯพณฯ ไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งได้มีโอกาสเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จังหวัดสกลนคร อันเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี 2535 ทำให้เกิดความประทับใจ และประสงค์จะให้มีโครงการด้านการพัฒนาในลักษณะเดียวกันในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
โครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้วก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2537 นับเป็นโครงการในพระราชดำริแห่งแรกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งอยู่ที่เมืองนาซายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ กิจกรรมการดำเนินงานหลัก ได้แก่
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปา ในพื้นที่
- การพัฒนาแหล่งน้ำ อาทิ การสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยซอน การสร้างฝายห้วยซั้ว
- การพัฒนาที่ดิน
- การพัฒนาด้านวิชาการการเกษตร
- งานด้านการปศุสัตว์
- งานด้านการประมง และ
- งานด้านการพัฒนาวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี
ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา นอกจากศูนย์ฯ จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ในเขตโครงการ ช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาด้านการเกษตรแล้ว โครงการศูนย์ฯ ยังได้พัฒนาขึ้นเป็นองค์ความรู้ด้านการเกษตรแก่ท้องถิ่น มีการจัดฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรจากทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงและจากทุกแขวงใน สปป.ลาว เป็นที่ยอมรับจากทั้งภาคนำ และประชาชนว่าเป็นศูนย์บริการด้านการเกษตรที่ครบวงจร ในโอกาสที่ศูนย์ฯ ดำเนินการครบ 15 ปีในปี 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จฯ ทรงเปิดฝายห้วยซั้วเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2552
ปัจจุบันโครงการศูนย์ฯ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของแผนกกสิกรรมและป่าไม้ นครหลวงเวียงจันทน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
2. โครงการส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) แขวงเวียงจันทน์
โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้าก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2519 โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลลาวกับองค์กรการกุศลจากประเทศต่างๆ เพื่อรองรับเด็กกำพร้าสมัยสงครามที่มีก่อนปี 2518 เด็กขาดที่พึ่ง และเด็กจากครอบครัวยากจนทั่วประเทศ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณที่จะดำเนินการ ส่งผลให้นักเรียนขาดแคลนที่พัก อาหาร และน้ำ เพื่อการอุปโภคและบริโภค และเป็นโรคขาดสารอาหาร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2537
ในการเสด็จฯ เยือน สปป.ลาวครั้งแรกของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 15 - 22 มีนาคม 2533 ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน 12 ล้านกีบ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ เมษายน 2552 โดย 1 บาท เท่ากับประมาณ 242 กีบ)
พระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นำเงินดังกล่าวไปก่อสร้างเรือนนอนให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเพิ่มเติมอีก 10 ล้านกีบ เพื่อใช้ก่อสร้างเรือนนอน ซึ่งได้พระราชทานชื่อว่า "อาคารสิรินธร" และใช้ส่งเสริม งานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร

นอกจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงได้ทรงให้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมกิจกรรมของโรงเรียนขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ ได้แก่
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบน้ำประปา การสร้างอาคารเรือนนอน อาคารเรียน
- กิจกรรมด้านการโภชนาการและสุขอนามัย
- กิจกรรมด้านการส่งเสริมอาชีพ และ
- กิจกรรมด้านการเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตร

บรรยากาศในบริเวณโรงเรียน
ปัจจุบัน กิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนอยู่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- ข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า หลัก 67 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2537
- คำกราบบังคมทูลของนายสุวิทย์ สิมะสกุล เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ในพิธีเปิดอาคารหอพัก เมื่อ พฤษภาคม 2544
- คำกราบบังคมทูลของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป้องกันความสงบ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2547
- คำกราบบังคมทูลของ อ.คำไหว ทองทีมะหาไซ ผู้อำนวยการโรงเรียน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2547
3. โครงการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือน สปป.ลาวอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี พร้อมกับได้พระราชทานเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลแขวงต่างๆ ตามความต้องการของโรงพยาบาล เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาล และด้วยทรงตระหนักว่าสุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ และการพัฒนางานการแพทย์และสาธารณสุขจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้และความชำนาญ รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทันสมัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จาก สปป.ลาว ในหลักสูตรต่างๆ ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการรักษาพยาบาล และเพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และประสานความร่วมมือกันในการพัฒนางานการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป
ปัจจุบัน การดำเนินงานของโครงการฯ อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
4. โครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเจ้าแขวงจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงตระหนักว่าผู้นำที่อยู่ในท้องถิ่นเป็นบุคคลสำคัญที่จะผลักดันให้งานพัฒนาด้านต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ ซึ่งใน สปป.ลาว "เจ้าแขวง" เป็นผู้ที่มีความสำคัญ มีประสบการณ์สูงในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นหากมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเจ้าแขวงกับผู้บริหารระดับสูงของประเทศไทย ก็จะทำให้งานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนของทั้งสองประเทศดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนิน "โครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเจ้าแขวงจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ขึ้น
โครงการฯ นี้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา โดยเชิญเจ้าแขวง และผู้แทนหน่วยงานระดับแขวง และส่วนกลางที่ดูแลด้านการพัฒนาไปศึกษาดูงาน ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนา และการบริหารราชการกับผู้แทนหน่วยงานในประเทศไทย โดยได้เชิญเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ และเจ้าแขวงจากทุกแขวงทั่ว สปป.ลาว เข้าร่วมโครงการครบทุกแขวงแล้วในปี 2551
การดำเนินงานของโครงการฯ อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
เจ้าแขวงที่เข้าร่วมโครงการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่อาคารชัยพัฒนา

ครั้งที่ 1 | ระหว่างวันที่ 2-9 พฤศจิกายน 2546
ผู้เข้าร่วม ได้แก่ - นายสมบัด เยียลีเฮ่อ เจ้าแขวงไซยะบุลี - นายคำหมั้น สูนวิเลิด เจ้าแขวงบ่อแก้ว - ดร.สีโห บันนะวง เจ้าแขวงเวียงจันทน์ |
ครั้งที่ 2 | ระหว่างวันที่ 16-22 พฤษภาคม 2547 ผู้เข้าร่วม ได้แก่ - ดร.สีเหลือ บุนค้ำ เจ้าแขวงสะหวันนะเขต - นายคำบุ่น ดวงปันยา เจ้าแขวงสาละวัน - นายคำใบ ดำลัด เจ้าแขวงคำม่วน |
ครั้งที่ 3 | ระหว่างวันที่ 9-16 มกราคม 2548 ผู้เข้าร่วม ได้แก่ - นายบุนเฮือง ดวงพะจัน เจ้าแขวงหลวงพระบาง - นายคำสาน สุวง เจ้าแขวงพงสาลี - นายทองหวัง สีหาจัก เจ้าแขวงจำปาสัก |
ครั้งที่ 4 | ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2549 ผู้เข้าร่วม ได้แก่ - ดร.บุนปอน บุดตะนะวง เจ้าแขวงอุดมไซ - ดร.พันคำ วิพาวัน เจ้าแขวงหัวพัน |
ครั้งที่ 5 | ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2550 ผู้เข้าร่วม ได้แก่ - นายคำพัน พมมะทัด เจ้าแขวงเซกอง - นายสีไน เมียงลาวัน เจ้าแขวงอัดตะปือ |
ครั้งที่ 6 | ระหว่างวันที่ 25-31 พฤษภาคม 2551 ผู้เข้าร่วม ได้แก่ - ดร.สินละวง คุดไพทูน เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ - นายพิมมะสอน เลืองคำมา เจ้าแขวงหลวงน้ำทา - นายคำปาน พิลาวง เจ้าแขวงบอลิคำไซ - นายเวียงถะหนอม พมมะจัน รักษาการเจ้าแขวงเชียงขวาง |
ครั้งที่ 7 | ระหว่างวันที่ 13-19 มิถุนายน 2553 ผู้เข้าร่วม ได้แก่ - นายคำบุ่น ด้วงปันยา เจ้าแขวงสาละวัน - พันเอกคำเผย บุดดาเวียง เจ้าแขวงเซกอง |
5. โครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง "มูลนิธิชัยพัฒนากับมหาวิทยาลัยจำปาสัก"
ด้วยมหาวิทยาลัยจำปาสักแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนากับมหาวิทยาลัยจำปาสัก เกี่ยวกับงานด้านวิขาการเกษตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจึงทรงมีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน "โครงการจัดตั้งแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน" ขึ้นภายในมหาวิทยาลัยจำปาสัก ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2550

โครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มูลนิธิชัยพัฒนากับมหาวิทยาลัยจำปาสัก
กิจกรรมภายใต้โครงการประกอบด้วย 1) งานด้านการพัฒนาที่ดิน 2) งานด้านชลประทาน 3) งานด้านปศุสัตว์ 4) งานด้านประมง 5) งานด้านการเกษตร 6) งานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างอาคาร หอพักนักศึกษา และ 7) งานด้านการเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการการเกษตร
หน่วยงานรับผิดชอบหลักของโครงการ ได้แก่ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โดยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อาทิ สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์
6. การพัฒนาบุคลากรของหอสมุดแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริม ทางวิชาการในสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ เนื่องจากงานด้านห้องสมุดเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาด้านการศึกษา จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้บุคลากรจากหอสมุดแห่งชาติแห่ง สปป.ลาวไปศึกษาต่อในสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ รวมถึงการฝึกอบรมในสาขาที่เกี่ยวข้อง ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในระยะเริ่มต้น แต่ต่อมารัฐบาลไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญ และความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือในสาขาดังกล่าว และเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของพระองค์ท่าน จึงได้รับดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้กรอบความร่วมมือทางวิชาการไทย – ลาว ซึ่งมีกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
อาคารหอพักโรงเรียนสามัญชนเผ่าแขวงคำม่วน

ทั้งนี้ นอกจากโครงการที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานความช่วยเหลืออื่นๆ อีก ได้แก่ การพระราชทานอุปกรณ์ที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการพัฒนา และการฝึกอบรมในด้านต่าง ๆ เช่น โครงการฝึกอบรมเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนด้านการเกษตร โภชนาการและสุขอนามัย สำหรับครูจากแขวงเซกองและแขวงอัตตะปือ โครงการอบรมครูจากแขวงสะหวันนะเขต การสร้างหอพักโรงเรียนสามัญชนเผ่าแขวงคำม่วน เป็นต้น