Development
ความร่วมมือทางวิชาการไทย-ลาว
ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้เริ่มความร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นทางการ มาตั้งแต่ปี 2516 ภายใต้กลไกการให้ความร่วมมือใน 2 ระดับ ดังนี้
-
1
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย – ลาว (Joint Commission on Bilateral Cooperation between Thailand and Lao PDR)
ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม
-
2
การประชุมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการ
โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และมีเลขาธิการคณะกรรมการร่วมมือลาว-ไทย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมฝ่ายลาว
ความร่วมมือทางวิชาการไทย-ลาว ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สพร. แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ ความร่วมมือแบบทวิภาคี ความร่วมมือในลักษณะแผนงานความร่วมมือระยะยาว และความร่วมมือในลักษณะพหุภาคี ดังนี้
1. การให้ความร่วมมือแบบทวิภาคี (Bilateral Cooperation Program)
ในรูปของโครงการพัฒนา การให้ทุนการศึกษา ฝึกอบรม ดูงานในประเทศไทย การให้วัสดุอุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในปัจจุบันความร่วมมือทางวิชาการในกรอบทวิภาคีแก่รัฐบาลลาว มีดังนี้
ความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ในแต่ละปี สพร. จะให้การสนับสนุนทุนศึกษาระดับปริญญาโท และฝึกอบรม/ดูงาน ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการไทย – ลาว โดยในปี 2553 สพร. ให้ทุนปริญญาโท 40 ทุน และทุนฝึกอบรม/ ดูงาน จำนวน 39 หลักสูตร 150 ทุน นอกจากนี้ ยังมีทุนศึกษาระดับปริญญาโทหลักสูตรนานาชาติ ทุนฝึกอบรมภาษาอังกฤษ และทุนฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติ
อัตราค่าใช้จ่ายของผู้รับทุนรัฐบาลไทย ได้รับการสนับสนุนตามระเบียบของ
สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
-
1) ค่ากินอยู่
- เงินที่ได้รับเมื่อมาถึง (เหมาจ่าย) จำนวน 6,000 บาท
- ค่าเบี้ยเลี้ยง เดือนละ 7,000 บาท
- ค่าที่พัก เบิกจ่ายให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการจ่ายค่าที่พักให้แก่สถานที่พักตามจริง
-
2) ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
- ค่าพาหนะเดินทางระหว่างประเทศ เป็นค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินชั้นประหยัดหรือพาหนะอื่นแล้วแต่กรณี
-
3) ค่าใช้จ่ายในการทำวิทยานิพนธ์และรายงาน
- ค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูลภาคสนาม เหมาจ่ายไม่เกิน 20,000 บาท
- ค่าจัดทำเอกสารวิทยานิพนธ์เหมาจ่าย 12,000 บาท
- ค่าจัดทำเอกสารสารนิพนธ์ รายงานการค้นคว้าอิสระ หรือรายงานที่หลักสูตรบังคับ โดยไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ เหมาจ่าย อัตรา 8,000 บาท
-
4) ค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา (แบ่งจ่าย 2 ครั้งในภาคเรียนที่ 1 และ 2)
- ปริญญาตรี อัตรา 8,000 บาท/ปีการศึกษา
- ปริญญาโท/เอก อัตรา 10,000 บาท/ปีการศึกษา
-
5) ค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมการศึกษา
- เบิกจ่ายตามที่มหาวิทยาลัยเรียกเก็บ ยกเว้นค่าประกันของเสียหายที่ผู้รับทุนต้องจ่ายเอง
-
6) ค่าเบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพ
- เบิกจ่ายค่าเบี้ยประกันให้บริษัทประกันชีวิตเป็นรายปี (วงเงินประกัน 100,000 บาท) โดยให้ทำการรักษาในสถานพยาบาลที่บริษัทประกันกำหนดไว้ ในกรณีที่ไม่ได้เข้ารักษาในสถานพยาบาลที่กำหนดให้ใช้ใบรับรองแพทย์ และใบเสร็จรับเงินของสถานพยาบาลประกอบการเบิกจ่าย
-
7) ค่าขนส่งสัมภาระ (เมื่อสำเร็จการศึกษา และกลับภูมิลำเนา)
- เบิกจ่าย 2,000 บาท
-
8) ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราหนังสือเดินทางประเภท Non -immigrant Visa “F”
จากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ จำนวน 2,000.-บาท จะเบิกจ่ายให้เมื่อได้รับใบสำคัญรับเงินจากผู้รับทุน โดย สพร. จะเบิกจ่ายให้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น - หมายเหตุ ค่าใช่จ่ายอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุตามระเบียบ สพร. เช่น ค่าเดินทางภายในประเทศลาว และค่าจัดทำหนังสือผ่านแดน (Passport) สพร. จะไม่รับผิดชอบให้
ความร่วมมือด้านโครงการ
ปัจจุบันมีโครงการความร่วมมือต่อเนื่องจำนวน 11 โครงการ โดยเป็นโครงการที่ในสาขาศึกษา จำนวน 4 โครงการ ด้านเกษตรจำนวน 4 โครงการ และด้านสาธารณสุข 3 โครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ด้านศึกษาจำนวน 4 โครงการ
(1) โครงการพัฒนาโรงเรียนเทคนิคแขวงสะหวันนะเขต
หน่วยงานดำเนินงานไทย วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร หน่วยงานดำเนินงานลาว โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแขวงสะหวันนะเขต วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนเทคนิคสะหวันนะเขต โดยใช้รูปแบบเดียวกับที่วิทยาลัยเทคนิคแขวงเวียงจันทน์ ซึ่งรัฐบาลไทยได้เคยให้ความช่วยเหลือ พัฒนาบุคลากรครูให้มีวุฒิการศึกษาให้สูงขึ้น ปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร (โรงฝึก) และจัดหาวัสดุอุปกรณ์การฝึก ระยะเวลาโครงการ 5 ปี (2551 – 2555) (2) โครงการผลิตสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
หน่วยงานดำเนินงานไทย สพฐ. และ กศน. กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานดำเนินงานลาว สถาบันค้นคว้าวิทยาศาสตร์การศึกษา ก. ศึกษาธิการลาว วัตถุประสงค์ เพื่อผลิตสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่นักเรียนในระดับ ม.ปลาย ในวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ยกระดับความรู้ของเจ้าหน้าที่ สปป.ลาว และครูในโรงเรียน รวมทั้งการสร้างเครือข่าย ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (2552 – 2555) (3) โครงการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาโท สาขาการศึกษาทางด้านการพัฒนาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว
หน่วยงานดำเนินงานไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน่วยงานดำเนินงานลาว มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาหลักสูตร International Development Studies ให้เปิดสอนในมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว โดยหลักสูตรเป็นการสอนภาคพิเศษ (เสาร์ – อาทิตย์) ระยะเวลาโครงการ 5 ปี (2551 – 2555) (4) โครงการยกระดับพนักงานของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวให้เป็นระดับปริญญาตรี
หน่วยงานดำเนินงานไทย มูลนิธิมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย และวิทยาลัยประชาคมนานาชาติอุดรธานี – หนองคาย หน่วยงานดำเนินงานลาว กระทรวงศึกษาธิการลาว วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ครูอาจารย์และพนักงานของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (มซ) ที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 114 คน ให้จบระดับปริญญาตรีศึกษาศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเป็นสาขาเอกสังคมศาสตร์ 57 คน และวิชาเอกเทคโนโลยีการศึกษาจำนวน 57 คน ระยะเวลาโครงการ 2 ปี (2551 – 2553)
ด้านเกษตร จำนวน 4 โครงการ
(1) โครงการพัฒนาการเลี้ยงปลาในเขตชนบทแขวงจำปาสักและเซกอง
หน่วยงานดำเนินงานไทย กรมประมง ก.เกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานดำเนินงานลาว กรมเลี้ยงสัตว์และประมง ก.กสิกรรมและป่าไม้ วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในแขวงจำปาสักและเซกองได้มีปลาในการบริโภค และพัฒนาบุคลากรของแขวงและสนับสนุนอุปกรณ์ และโรงเพาะพันธุ์ปลา ระยะเวลาโครงการ 4 ปี (2551 – 2554) (2) โครงการป้องกันโรคสัตว์ใน 5 แขวงภาคใต้ของ สปป.ลาว
หน่วยงานดำเนินงานไทย กรมปศุสัตว์ ก.เกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานดำเนินงานลาว กรมเลี้ยงสัตว์และประมง ก.กสิกรรมและป่าไม้ วัตถุประสงค์ ป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคเฮโมรายิก-เซพติซีเมีย ซึ่งเป็นโรคที่ฝ่ายไทยมีศักยภาพที่จะดำเนินการได้ ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (2551 – 2553) (3) โครงการพัฒนาเกษตรและป่าไม้เขตโพนทอง เมืองเวียงคำ แขวงหลวงพระบาง
หน่วยงานดำเนินงานไทย กรมส่งเสริมการเกษตร ก.เกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานดำเนินงานลาว กสิกรรมและป่าไม้ แขวงหลวงพระบาง ก.กสิกรรมและป่าไม้ วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาเขตโพนทอง เมืองเชียงคำ ด้วยการส่งเสริมการเกษตรในด้านการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ (วัว ควาย แพะ และหมู) และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรแก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร ในเขตโพนทอง ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (2552 – 2555) (4) โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหวาน และถั่วลิสง เพื่อผลิตเป็นสินค้าในแขวงเวียงจันทน์
หน่วยงานดำเนินงานไทย กรมปศุสัตว์ ก.เกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานดำเนินงานลาว กรมปลูกฝัง ก.กสิกรรมและป่าไม้ วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงเวียงจันทน์ สามารถปลูกข้าวโพดหวานและถั่วลิสงเป็นอาชีพและสามารถผลิตเป็นสินค้าได้ และยกระดับความรู้ให้แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (2552 – 2555)
ด้านสาธารณสุข จำนวน 3 โครงการ
(1) โครงการพัฒนาโรงพยาบาลเมืองโพนโฮง
หน่วยงานดำเนินงานไทย ก.สาธารณสุขไทย หน่วยงานดำเนินงานลาว ก.สาธารณสุขลาว วัตถุประสงค์ เพื่อให้การพัฒนาระบบการให้บริการสาธารณสุขในเขตเมืองโพนโฮงให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาด้านสาธารณสุขและการแพทย์ในแขวงอื่นๆ ของสปป. ลาว ให้ส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวลาวต่อไป ระยะเวลาโครงการ 2 ปี (2) โครงการพัฒนาโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว
หน่วยงานดำเนินงานไทย ก.สาธารณสุขไทย หน่วยงานดำเนินงานลาว ก.สาธารณสุขลาว วัตถุประสงค์ เพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในและเด็กเล็กของโรงพยาบาลบ่อแก้ว รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น และจัดฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ และทักษะให้แก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ระยะเวลาโครงการ 2 ปี

การประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการพัฒนาโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้วเมื่อ 15 มกราคม 2553
พิธีมอบรถพยาบาลแก่โรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว

(3) โครงการยกระดับนักวิเคราะห์การแพทย์ให้เป็นระดับปริญญาตรี
หน่วยงานดำเนินงานไทย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานดำเนินงานลาว คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ วัตถุประสงค์ เพื่อช่วยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิเคราะห์การแพทย์ และพัฒนาบุคลากรทางด้านวิเคราะห์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อที่จะให้เป็นอาจารย์สอนในสาขาดังกล่าว ระยะเวลาโครงการ 4 ปี (2551 – 2555)
2. ความร่วมมือในลักษณะแผนงานความร่วมมือ
สพร.อยู่ในระหว่างการพัฒนาแผนงานความร่วมมือในลักษณะแผนงาน (Programme-based Approach) เพื่อสอดคล้องกับปฏิญญาเวียงจันทน์เกี่ยวกับการรับความร่วมมือจากต่างประเทศของรัฐบาล สปป.ลาว ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามให้สัตยาบันต่อปฎิญญาดังกล่าว รวมทั้งสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลลาวที่ต้องการจะพัฒนาความร่วมมือกับประเทศผู้ให้ในลักษณะแผนงาน โดยในระยะแรกจะเริ่มต้นที่สาขาศึกษา ซึ่งการศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อจัดทำแผนงานความร่วมมือด้านการศึกษา (Country Programme for Education) ด้านการศึกษา จำนวน 1 แผนงาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 โดยแผนงานความร่วมมือด้านการศึกษาจะมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 3 ปี ในระยะแรกจะเน้นการพัฒนาบุคลากรของสถาบันการศึกษาของ สปป.ลาวก่อน โดยจะมีโครงการที่จะดำเนินการในระยะแรก จำนวน 9 โครงการ ดังนี้
-
1
ความร่วมมือระหว่าง ม.จำปาสัก และ ม.อุบลฯ จำนวน 1 โครงการ
คือ โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรของมหาวิทยาลัยจำปาสัก
-
2
ความร่วมมือระหว่าง ม.แห่งชาติลาว และ ม.ขอนแก่น จำนวน 1 โครงการ
คือ โครงการพัฒนาบุคลากรคณะเกษตรศาสตร์นาบง ม.แห่งชาติลาว (การป้องกันพืช สัตวแพทย์ และประมง)
-
3
ความร่วมมือระหว่าง ม.วิทยาศาสตร์สุขภาพ และ ม.ขอนแก่น จำนวน 1 โครงการ
คือ โครงการพัฒนาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ
-
4
ความร่วมมือระหว่าง ม.สุพานุวง และ ม.เชียงใหม่ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
- (1) โครงการพัฒนาบุคลากรของ ม.สุพานุวง
- (2) โครงการพัฒนาห้องสมุดของ ม.สุพานุวง
- (3) โครงการพัฒนาหลักสูตรปรุงแต่งกสิกรรมของ ม.สุพานุวง
-
5
ความร่วมมือในด้านอาชีวศึกษา จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
- (1) โครงการพัฒนาโรงเรียนเทคนิคแขวงเวียงจันทน์
- (2) โครงการพัฒนาโรงเรียนกสิกรรมดงคำช้าง
- (3) โครงการพัฒนาโรงเรียนเทคนิควิชาชีพแขวงหลวงพระบาง
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนงานโดยฝ่ายลาว
3. ความร่วมมือแบบพหุภาคี
ความร่วมมือไตรภาคีและภูมิภาค
รัฐบาลไทยร่วมกับแหล่งความร่วมมือต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศให้ความร่วมมือกับรัฐบาล สปป.ลาว ในรูปของโครงการและทุนในสาขาตามที่ทั้งสามฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน การรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเป็นไปตามข้อตกลงของประเทศผู้ให้
ข้อมูลเมื่อ 11 มีนาคม 2553 จัดทำโดยสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ