แขวงบ่อแก้ว

ที่ตั้ง
แขวงบ่อแก้วเป็นแขวงทางภาคเหนือของ สปป. ลาว มีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ทิศเหนือติดแขวงหลวงน้ำทา ทิศใต้ติดแขวงไซยะบูลี ทิศตะวันออกติดแขวงอุดมไซ และทิศตะวันตกติดประเทศไทยและสหภาพเมียนมาร์ แขวงนี้มีชื่อเสียงทางด้านอัญมณีและอยู่ในเขตสามเหลี่ยมทองคำ
พื้นที่
6,196 ตารางกิโลเมตร
ประชากร
165,661 คน
ความหนาแน่นของพลเมืองเฉลี่ย
26 คน / ตารางกิโลเมตร
การแบ่งเขตปกครอง
5 เมือง ได้แก่
1. เมืองห้วยทราย
2. เมืองต้นผึ้ง
3. เมืองเมิง
4. เมืองผาอุดม
5. เมืองปากทา
เจ้าแขวง
นายคำพัน เผยยะวง
รองเจ้าแขวง
นายอำพอน จันทะสมบูน
นายจอมสี ลัดตะนะปัน
ข้อมูลโดยสังเขป
ในอดีต ชาวเงี้ยวกลุ่มหนึ่งจากเมืองหมอกใหม่ได้มาค้นหาแหล่งหินมีค่าตามสองฝั่งแม่น้ำโขงจากปากน้ำเกิ่ง จนถึงห้วยซายใหญ่ ห้วยซายน้อย และปากห้วยห่าย (ห้วยผาคำ) เมื่อพบแล้วได้กลับไปรายงานเจ้าฟ้าขุนจิ่งที่เมืองหมอกใหม่ ในเวลาต่อมา เจ้าฟ้าขุนจิ่งจึงย้ายผู้คน 46 ครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองห้วยทราย เพื่อขุดค้นหินมีค่าและขายเป็นสินค้า บริเวณดังกล่าวจึงเรียกว่า "บ่อแก้ว"
สมัยราชอาณาจักรลาว เมืองบ่อแก้วเป็นเมืองหนึ่งในแขวงหัวโขง (แขวงหลวงน้ำทาในปัจจุบัน) เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้มีการตั้งแขวงใหม่เป็นแขวงบ่อแก้ว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2526 โดยในช่วงแรกมีเพียง 3 เมือง คือ เมืองห้วยซาย เมืองต้นผึ้ง และเมืองเมิง เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2535 รัฐบาลได้แยกเมืองปากทาและเมืองผาอุดมจากแขวงอุดมไซมาขึ้นกับแขวงบ่อแก้ว และในเดือนธันวาคม 2536 ได้เปิดจุดผ่านแดนถาวรระหว่างเมืองห้วยซายกับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
ปัจจุบัน แขวงบ่อแก้วมีถนน R 3 A ตัดผ่าน ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างไทย - สปป. ลาว – จีน สะพานได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสะพานร่วมกับนายบุนยัง วอละจิต รองประธานประเทศ (ในขณะนั้น) สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 4 ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีระหว่าง 3 ประเทศ เนื่องจากมีถนน R 3 A ตัดผ่าน และช่วยให้การคมนาคมระหว่างประเทศสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แขวงบ่อแก้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น วัดจอมเขามณีรัตน์ วัดพระธาตุตากผ้าทอง วัดดอยแดง อนุสรณ์สถานไกสอน พมวิหาน