สัญชาติและนิติกรณ์
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ให้บริการงานสัญชาติและนิติกรณ์เกี่ยวข้องกับงานทะเบียนราษฎร เช่น แจ้งการเกิด แจ้งการตาย จดทะเบียนสมรส และการรับรองเอกสารและคำแปล สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงทำหน้าที่เสมือนที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตในต่างประเทศ
ผู้มาขอรับบริการโปรดติดต่อฝ่ายกงสุล เลขที่ 15 บ้านโพนสีนวน ถนนบุลีจัน เมืองสีสัดตะนาก นครหลวงเวียงจันทน์
การยื่นคำร้องที่สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
- กรอกแบบฟอร์มคำร้องขอนิติกรณ์ ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
- แสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทางพร้อมสำเนา
- ชำระค่าธรรมเนียมรายการละ 500 บาท
- ผู้ยื่นคำร้องจะได้รับเอกสารในวันทำการถัดไป
การยื่นคำร้องขอมรณบัตรไทย (กรณีคนไทยเสียชีวิตใน สปป. ลาว)
เอกสารประกอบคำร้อง
- ต้นฉบับมรณบัตร หรือใบรับรองการเสียชีวิต ที่ทางการท้องถิ่นใน สปป. ลาว ออกให้ และผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว แล้ว
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มาแจ้งการตายและของผู้ตาย
- ทะเบียนบ้านของผู้มาแจ้งการตายและของผู้ตาย
- หนังสือเดินทางหรือบัตรผ่านแดนของผู้ตาย (ที่ใช้เดินทางเข้า สปป.ลาว)
- ผู้มายื่นคำร้องขอมรณบัตรไทย ต้องเป็นญาติของผู้ตายเท่านั้น อาทิ บิดา-มารดา คู่สมรส บุตร พี่-น้อง เป็นต้น
หมายเหตุ
- ต้องนำเอกสารฉบับจริงมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ พร้อมถ่ายสำเนาอีก 1 ชุด
- ผู้มาแจ้งการตายต้องกรอกแบบฟอร์ม จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
(1) แบบฟอร์มคำร้องขอจดทะเบียนคนตาย
(2) แบบฟอร์มมรณบัตร และ
(3) แบบฟอร์มบันทึก ซึ่งขอรับได้ที่ที่ทำการฝ่ายกงสุลในวันที่มายื่นคำร้อง - สถานเอกอัครราชทูตฯ มีความจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารต่าง ๆ จึงอาจใช้ระยะเวลาดำเนินการออกใบมรณบัตรนานกว่าการออกใบมรณบัตรในประเทศไทย
ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับงานสัญชาติและนิติกรณ์
-
การจดทะเบียนสมรสกับคนต่างชาติ
ตามกฎหมายในประเทศนั้นๆ ถือว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไทยด้วย และไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่อีก (กฎหมายบางประเทศกำหนดให้ผู้ขอจดทะเบียนต้องมีใบรับรองว่าไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน ซึ่งขอได้ที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน)
อนึ่ง หากต้องการบันทึกสถานะการสมรสดังกล่าวในประเทศไทย สามารถทำได้โดยนำทะเบียนสมรสไปรับรอง และแปลตามระเบียบนิติกรณ์แล้วนำไปขอจดทะเบียนสถานะแห่งครอบครัวที่เขต/อำเภอที่มีทะเบียนบ้านอยู่


-
กฎหมายไทยเกี่ยวกับสัญชาติไทย
กฎหมายไทยกำหนดให้บุคคลที่เกิดโดยบิดา หรือ มารดา ซึ่งมีสัญชาติไทยไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ดังนั้น บิดามารดาสามารถแจ้งขอ สูติบัตรไทยได้ที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี หากบิดามารดาและบุตรได้ย้ายกลับมาพำนัก อยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวรแล้ว ก็สามารถแจ้งเกิด และขอสูติบัตรไทยได้ที่กองสัญชาติ และนิติกรณ์ กรมการกงสุล ซึ่งจะส่งเอกสารไปให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศที่บุตรเกิดออกสูติบัตรไทยให้
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ www.consular.go.th