ด้านการเมืองและความมั่นคง
ไทยและสปป.ลาว มีหลายกลไก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง กลไกที่ดูแลภาพรวมความสัมพันธ์ทั้งหมด ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว (Joint Commission : JC) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม ประเด็นหารือในกรอบความร่วมมือนี้ครอบคลุมทุกมิติ เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน การเปิดจุดผ่านแดนการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม แรงงาน เป็นต้น

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม 2553 ณ โรงแรมดุสิตธานี มีนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และดร.ทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เป็นประธานร่วม
ความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงยังมีกลไกในแต่ละสาขาดังนี้
1. การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
ไทยและลาวมีชายแดน 1,810 กิโลเมตร มีพรมแดนทั้งทางบกและทางน้ำ (แม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง) มีคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission:JBC) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งฝ่ายเป็นประธานร่วม เป็นกลไกในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ปัจจุบันได้จัดทำหลักเขตแดนทางบกเสร็จแล้วมากกว่าร้อยละ 95
2. การรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน
โดยที่ไทยและลาว มีชายแดนถึง 1,810 กิโลเมตร การรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข จึงเป็นเรื่องสำคัญ หน่วยงานความมั่นคงที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ คือ กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย กลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงป้องกันประเทศ สปป.ลาว ได้แก่ คณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย-ลาว (General Border Committee:GBC) จัดตั้งเมื่อปี 2533 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ สปป.ลาว เป็นประธานร่วม จัดประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2534
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยือน สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน 2552 และได้เยี่ยมคารวะนายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว


พล.อ.ประวิตร์ วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.ท.ดวงใจ พิจิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ สปป.ลาว ลงนามในบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย-ลาว ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2553 ณ เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก
ในปี 2536 คณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยฯ (GBC) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย-ลาว (อนุ GBC) กำหนดประชุมปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามการปฏิบัติงานภายในกรอบนโยบาย GBC และเสนอผลการดำเนินงาน และข้อพิจารณาในเประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น ปัญหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมายความร่วมมือระหว่างกองทัพความร่วมมือในการรักษาเส้นเขตแดน เป็นต้น
ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงป้องกันความสงบ สปป.ลาว กลไกประสานงานระดับสูงสุด คือ การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัด-เจ้าแขวงชายแดนไทย-ลาว มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันความสงบ สปป.ลาว เป็นประธานร่วม จังหวัดที่มีชายแดนติด สปป.ลาว มี 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ฝั่งลาวมี 9 แขวงที่ติดชายแดนไทย ได้แก่ บ่อแก้ว ไซยะบูลี เวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ บอลิคำไซ คำม่วน สะหวันนะเขต สาละวัน และจำปาสัก (แขวงเวียงจันทน์เป็นเขตการปกครองต่างหากจากนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองหลวง)
ในระดับท้องถิ่น จังหวัดและแขวงชายแดนไทยลาวมีการประชุมประสานงานของคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย-ลาว ระดับจังหวัด-แขวง มีผู้ว่าราชการจังหวัดกับเจ้าแขวงเป็นประธานร่วม โดยมุ่งหวังให้สามารถแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นให้ยุติในระดับท้องถิ่น
ประเด็นสำคัญที่หารือกัน ได้แก่ การเปิดจุดผ่านแดน การอำนวยความสะดวกในการข้ามแดน และการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน
3. การดำเนินกิจกรรมในแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง
แม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองเป็นแม่น้ำที่เป็นเขตแดนระหว่างประเทศ ในอดีตเคยมีปัญหาการลักลอบดูดทรายและปัญหาตลิ่งถูกกัดเซาะ ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-ลาวเพื่อดูแลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (Joint Committee for Management on Mekong River and Heung River:JCMH) เป็นกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหา มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานฝ่ายไทย
4. ยาเสพติด
สำนักงาน ป.ป.ส. และสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติลาวเพื่อควบคุมและตรวจตรายาเสพติดมีการประชุมหารืออย่างสม่ำเสมอเพื่อร่วมกันแก้ปัญหายาเสพติด ทั้งในด้านการปราบปรามและด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เช่น
- การตั้งสำนักงานประสานงานปราบปรามยาเสพติดชายแดน (Border Liaison Office) 9 แห่ง
- ไทยสนับสนุนการก่อสร้างและด้านวิชาการแก่ศูนย์บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่แขวงจำปาสัก
- การให้ทุนฝึกอบรมแก่บุคลากรลาว
- การแลกเปลี่ยนข่าวสารเพื่อจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติด
- สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และกระทรวงการต่างประเทศมีโครงการนำองค์ความรู้ด้านการปลูกพืชทดแทนพืชเสพติดของมูลนิธิโครงการหลวง และการพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายหลังเลิกปลูกฝิ่นใน สปป.ลาว พื้นที่นำร่อง คือ บ้านนาห้วยอุ่น และบ้านนาแสนคำ เมืองไซ แขวงอุดมไซ โดยเกษตรกรสนใจปลูกมะม่วง พลัม พีช องุ่น เสาวรส เลี้ยงสุกร และการผลิตปุ๋ยชีวภาพ
นอกจากความร่วมมือในระดับทวิภาคี ไทยและสปป.ลาว ต่างเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือ 7 ฝ่ายว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด ซึ่งประกอบด้วย ไทย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า จีน และสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)
นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีของภาคีบันทึกความเข้าใจว่า ด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด 7 ฝ่าย ได้แก่ ไทย สปป.ลาว จีน เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม และ UNODC เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2554 ที่โรงแรมลาวพลาซ่า หัวหน้าคณะผู้แทนไทย คือ พล.ต.อ.กฤษณะ ผลอนันต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

การแลกเปลี่ยนการเยือน
การเยือน สปป.ลาว ของฝ่ายไทย
ระดับพระบรมวงศานุวงศ์
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
8-9 เมษายน 2537 | พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนลาวภายหลังจากที่ทรงเป็นประธานร่วมกับนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาวในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาวที่จังหวัดหนองคาย โดยเป็นการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งแรกในรอบ 27 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว อันเป็นโครงการในพระราชดำริ ร่วมกับประธานประเทศลาวที่เมืองนาซายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ รวมทั้งทอดพระเนตรโครงการส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้าฯ ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย |
---|
2. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
มิถุนายน 2535 | สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนลาวอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนายไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศลาว |
---|---|
28 พฤศจิกายน 2535 | สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงร่วมพิธีศพนายไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศลาว |
3. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
15-21 มีนาคม 2533 | สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนลาวเป็นครั้งแรก ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลลาว ได้เสด็จฯ เยือนกำแพงนครเวียงจันทน์ แขวงหลวงพระบาง แขวงสะหวันนะเขต แขวงสาละวัน และแขวงจำปาสัก |
---|---|
11 เมษายน 2535 | เสด็จฯ เยือนแขวงจำปาสัก |
16-19 ตุลาคม 2535 | เสด็จฯ เยือนลาว เพื่อถวายผ้าพระกฐินพระราชทานและทรงติดตามผลการดำเนินโครงการส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า หลัก 67 แขวงเวียงจันทน์ ตามพระราชดำริ ได้เสด็จฯ เยือนกำแพงนครเวียงจันทน์ แขวงเชียงขวาง แขวงหัวพัน |
9-14 พฤศจิกายน 2535 | เสด็จฯ กำแพงนครเวียงจันทน์ แขวงเวียงจันทน์ แขวงหลวงพระบาง แขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน |
8-9 เมษายน 2537 | เสด็จฯ กำแพงนครเวียงจันทน์ |
28 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2537 | เสด็จฯ กำแพงนครเวียงจันทน์ แขวงเวียงจันทน์ แขวงไซยะบุลี และแขวงบ่อแก้ว |
8-11 เมษายน 2539 | สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จฯ เยือนแขวงเซกอง และแขวงอัดตะปือทางใต้ของลาว และเป็นองค์ประธาน ในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยซอนและระบบส่งน้ำของโครงการ |
21-24 มกราคม 2540 | เสด็จฯ เยือนแขวงอุดมไซและแขวงหลวงน้ำทา |
19-20 มีนาคม 2541 | เสด็จฯ เยือนลาว เพื่อทรงติดตาม ความคืบหน้าของโครงการตามพระราชดำริ |
23-25 กุมภาพันธ์ 2542 | เสด็จฯ เยือนแขวงพงสาลี |
23-25 พฤษภาคม 2544 | เสด็จฯ เยือนลาวเพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าของโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร (หลัก 22) และโรงเรียนวัฒนธรรม แขวงเวียงจันทน์ (หลัก 67) ที่นครหลวงเวียงจันทน์ และเสด็จฯ เยือนแขวงเชียงขวาง |
25-27 พฤศจิกายน 2545 | เสด็จฯ เยือนแขวงหัวพัน |
17-18 มีนาคม 2547 | เสด็จฯ เยือนนครหลวงเวียงจันทน์เพื่อทรงติดตามความคืบหน้าของโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร (หลัก 22) และโรงเรียนวัฒนธรรมแขวงเวียงจันทน์ (หลัก 67) |
14-16 มีนาคม 2548 | เสด็จฯ เยือนนครหลวงเวียงจันทน์ แขวงสะหวันนะเขต และแขวงจำปาสัก |
20 ธันวาคม 2549 | เสด็จฯ เยือนแขวงสะหวันนะเขต ในโอกาสทรงเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) |
9 พฤศจิกายน 2550 | เสด็จฯ เยือนแขวงจำปาสัก |
25-28 พฤศจิกายน 2550 | เสด็จฯ เยือนแขวงคำม่วน |
5-6 มีนาคม 2552 | เสด็จฯ นครหลวงเวียงจันทน์เพื่อทรงเป็นประธานพิธีเปิดการเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ไทย-ลาว และเสด็จฯ แขวงคำม่วนเพื่อทรงวางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน ร่วมกับนายบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศแห่ง สปป.ลาว รวมทั้งเสด็จฯ ศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร หลัก 22 และโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า หลัก 67 เพื่อทรงติดตามความคืบหน้า |
11 กุมภาพันธ์ 2553 | เสด็จฯ เยือนมหาวิทยาลัยจำปาสัก แขวงจำปาสัก เพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจำปาสัก |
11 พฤศจิกายน 2554 | เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน ร่วมกับนายบุนยัง วอละจิด รองประธานประเทศแห่ง สปป.ลาว และเสด็จฯ โรงเรียนสามัญชนเผ่าแขวงคำม่วนและโรงพยาบาลแม่และเด็กแขวงคำม่วน |
4. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
พฤศจิกายน 2537 | เสด็จเยือนลาว |
---|---|
มกราคม 2539 | เสด็จเยือนลาว |
28-29 ตุลาคม 2541 | เสด็จเยือนลาวเพื่อถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่วัดแสนสุขาราม เมืองหลวงพระบาง |
5. พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
8-11 เมษายน 2539 | ตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนแขวงเซกองและแขวงอัดตะปือ และในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยซอนและระบบส่งน้ำของโครงการ |
---|---|
17-18 มีนาคม 2552 | เสด็จนครหลวงเวียงจันทน์เพื่อทรงศึกษาดูงานที่ศาลประชาชนสูงสุดและองค์การอัยการประชาชนสูงสุด |
ระดับนายกรัฐมนตรี
24-25 พฤศจิกายน 2531 | พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็นทางการ |
---|---|
มิถุนายน 2536 | นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็นทางการ |
มิถุนายน 2539 | นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็นทางการ |
มิถุนายน 2540 | พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็นทางการ |
26-28 พฤษภาคม 2543 | นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็นทางการ |
13-14 มิถุนายน 2544 | พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็นทางการ |
20-21 มีนาคม 2547 | พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนแขวงจำปาสักเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-ลาวอย่างไม่เป็นทางการ (20 มีนาคม 2547) และเป็นประธานร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต (21 มีนาคม 2547) ที่จังหวัดมุกดาหารและแขวงสะหวันนะเขต |
29-30 พฤศจิกายน 2547 | พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนลาว (นครหลวงเวียงจันทน์) เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 |
27 พฤศจิกายน 2548 | พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนแขวงคำม่วนเพื่อเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ "น้ำเทิน 2" |
14 ตุลาคม 2549 | พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็นทางการ |
20 ธันวาคม 2549 | พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปแขวงสะหวันนะเขตในโอกาสเข้าร่วมพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) |
29 กุมภาพันธ์- 1 มีนาคม 2551 | นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็นทางการ |
30-31 มีนาคม 2551 | นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เยือนเพื่อร่วมการประชุมสุดยอด Greater Mekong Subregion (GMS) ครั้งที่ 3 |
3 พฤศจิกายน 2551 | นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็นทางการ |
23 กุมภาพันธ์ 2552 | นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็นทางการ |
5 มีนาคม 2552 | นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีเปิดการเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ไทย-ลาวที่สถานีท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ |
6 มีนาคม 2552 | นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ที่แขวงคำม่วนและที่จังหวัดนครพนม |
9 ธันวาคม 2552 | นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีเปิดซีเกมส์ ครั้งที่ 25 และได้เยี่ยมคารวะนายจูมมาลี ไซยะสอน ประธานประเทศลาว |
9 ธันวาคม 2553 | นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีเปิดโครงการอเนกประสงค์น้ำเทิน 2 ที่แขวงคำม่วนและเยือนนครหลวงเวียงจันทน์ คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีในพิธีเปิดโครงการอเนกประสงค์น้ำเทิน 2 |
16 กันยายน 2554 | นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็นทางการ |
การเยือนไทยของฝ่ายสปป.ลาว
ระดับประธานประเทศ
6-11 มกราคม 2535 | นายไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศลาว และภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะราชอาคันตุกะในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ |
---|---|
14-19 กุมภาพันธ์ 2538 | นายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาวและภริยาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะราชอาคันตุกะในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ |
12-14 พฤษภาคม 2552 | นายจูมมาลี ไซยะสอน ประธานประเทศลาวและภริยาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ |
ระดับนายกรัฐมนตรี
กุมภาพันธ์ 2535 | นายคำไต สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว เยือนอย่างเป็นทางการ และได้ลงนามสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและ สปป.ลาว ฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2535 ที่กรุงเทพมหานคร โดยนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย ต่อมาได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารของสนธิสัญญาฉบับนี้ที่เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2535 |
---|---|
มีนาคม 2542 | นายสีสะหวาด แก้วบุนพัน นายกรัฐมนตรีลาว เยือนอย่างเป็นทางการ |
สิงหาคม 2544 | นายบุนยัง วอละจิด นายกรัฐมนตรีลาว เยือนอย่างเป็นทางการ |
28-30 เมษายน 2546 | นายบุนยัง วอละจิด นายกรัฐมนตรีลาว เยือนเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ที่กรุงเทพมหานคร |
20-21 มีนาคม 2547 | นายบุนยัง วอละจิด นายกรัฐมนตรีลาว เยือนไทย (จังหวัดอุบลราชธานี) เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วม ไทย-ลาวอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 และเป็นประธานร่วม ในพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547 ที่จังหวัดมุกดาหาร และแขวงสะหวันนะเขต |
1-3 พฤศจิกายน 2548 | นายบุนยัง วอละจิด นายกรัฐมนตรีลาว เยือนเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขงที่กรุงเทพมหานคร |
17-18 ธันวาคม 2549 | นายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรีลาว เยือนอย่างเป็นทางการ |
28 กุมภาพันธ์- 1 มีนาคม 2552 | นายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรีลาว เยือนเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ชะอำ-หัวหิน |
23-25 ตุลาคม 2552 | นายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรีลาว เยือนเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมกับประเทศคู่เจรจา ที่ชะอำ-หัวหิน |
31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2555 | นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว เยือนเพื่อเข้าร่วมการประชุม WEF on East Asia และเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย |