การขุดพบพระพุทธรูปสำคัญที่ดอนผึ้งคำ แขวงบ่อแก้ว และความสำคัญของพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงแสนและเมืองต้นผึ้งในอดีต

การขุดพบพระพุทธรูปสำคัญที่ดอนผึ้งคำ แขวงบ่อแก้ว และความสำคัญของพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงแสนและเมืองต้นผึ้งในอดีต

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 มิ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 มิ.ย. 2567

| 374 view
ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 ระหว่างที่ชาวบ้านในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว กำลังเริ่มปรับเตรียมพื้นที่และดูดทรายในบริเวณดอนผึ้งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้วเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้าง บังเอิญได้พบพระพุทธรูปจำนวนมากที่จมอยู่ในทรายริมฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อเจ้าหน้าที่ สปป. ลาวที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านขุดค้นเพิ่มเติม ได้พบพระพุทธรูปจำนวน 255 องค์ และโบราณวัตถุอีกจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปทองสำริดเก่า จนกระทั่งช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2567 ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ของ สปป. ลาว ได้ขุดพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่ สูง 2.67 เมตร หน้าตักกว้าง 2.24 เมตร คาดว่ามีอายุประมาณ 500-600 ปี และขุดพบพระเกศ (ส่วนยอดของพระเศียร) ของพระพุทธรูปองค์เดียวกันในบริเวณห่างจากจุดค้นพบพระพุทธรูปประมาณ 14 เมตรไปทางทิศเหนือ สอดคล้องกับการหันพระเศียรขององค์พระพุทธรูปไปทางทิศเหนือพอดี
 
การค้นพบครั้งนี้สร้างความปิติยินดีแก่พุทธศาสนิกชน ชาว สปป. ลาวและชาวไทยสองฝั่งโขงที่ทราบข่าว ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้จัดการสมโภชน์อัญเชิญพระพุทธรูปมาไว้ที่วัดทองทิบ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว และเรียกพระพุทธรูปสำคัญที่ขุดพบว่า ‘พระเจ้าองค์หลวง’ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศจำนวนมาก ได้เข้าสักการะบูชาพระเจ้าองค์หลวงและพระพุทธรูปสำริด โดยพระเจ้าองค์หลวงมีลักษณะการหล่อแบบโบราณ คือ หล่อแบบสามชิ้น ส่วนลำตัว ส่วนพระเศียร และส่วนฐาน (หน้าตัก) ขององค์พระ โดยมีสลักยึดติดเห็นได้ตามรูปแบบการหล่อพระโบราณทั่วไป จึงคาดว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบเชียงแสน ไชยปราการมีอายุประมาณ 450-600 ปี
 
ความสำคัญของการขุดค้นพบครั้งนี้ มีเรื่องเล่าสอดคล้องกับเอกสารโบราณทางประวัติศาสตร์ ตำนานและพงศาวดารหลายฉบับที่กล่าวถึงดินแดนพุทธภูมิที่สำคัญและเป็นที่ตั้งของความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาบนพื้นที่ดินดอนใกล้เมืองเชียงแสนและเมืองต้นผึ้ง คือ ‘เกาะดอนแท่น’ (ดอนผึ้งคำที่มีการขุดค้นพระพุทธรูปสำคัญ) ซึ่งจากบทความในวารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2545 โดยปริวรรต ธรรมาปรีชากร ได้กล่าวถึงความสำคัญทางพุทธศาสนา จาก หนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารเมืองเงินเชียงแสน ว่าเกาะดอนแท่นที่เมืองเชียงแสนเป็นพื้นที่ที่พระมหาเถรเจ้า ผู้ครองเมืองเชียงแสนใช้ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาและสักการะเจ้าผู้ครองเมืองตามประเพณีโบราณ โดยสถาปนาวัดต่าง ๆ จำนวนมากกว่าสิบวัด รวมถึงอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาประดิษฐานไว้บนเกาะดอนแท่น ตรงกับสมัยพญาแสนเมืองมา และหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึง เจ้ามหาพรหมได้นำพระพุทธสิหิงค์จำลองจากเมืองเชียงรายมาทำพิธีสวดพุทธาภิเษกที่เกาะดอนแท่น และมีพระสงฆ์มาทำพิธีอุปสมบทบุตรและเจ้านายหลายองค์ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริเวณเกาะดอนเขตแม่น้ำโขง ตลอดจนเมืองเชียงแสนและเมืองต้นผึ้ง สองฝั่งของไทยและลาว เป็นศูนย์รวมความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่สำคัญในอดีตช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา
แม้ในทางภูมิศาสตร์จะบ่งชี้ว่าพื้นที่ เกาะดอนแท่น (เกาะดอนหลวง) ซึ่งเป็นพื้นที่เนินดินทรายขนาดใหญ่กลางน้ำโขงที่ปรากฏระหว่างปี 2446-2528 ของไทย* (ซึ่งคาดว่าจะเป็นดินแดนที่กล่าวถึงตามเอกสารต่าง ๆ ) จะเป็นคนละจุดกับเกาะดอนแท่นของฝั่ง สปป. ลาว ในปัจจุบัน ซึ่งเดิมบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นแผ่นดินเดียวกันกับจุดที่แม่น้ำโขงสายเก่าไหลผ่านก่อนจะตื้นเขินในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา และเกิดเส้นทางแม่น้ำโขงสายใหม่จากการขุดร่องน้ำสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อคราวเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ร่วมกับกองทัพสยามเข้าโจมตีเมืองเชียงแสนและขุดร่องน้ำเพื่อให้เมืองเชียงแสนกลายเป็นสองฝั่ง เกิดเป็นเส้นทางน้ำใหม่
 
แต่ในทางความเชื่อและความศรัทธาของชาวบ้านในบริเวณดังกล่าว ล้วนแล้วแต่มีความยินดีต่อการขุดค้นพบครั้งสำคัญครั้งนี้อย่างยิ่ง และเชื่อว่าการขุดค้นพบดังกล่าวเป็นการค้นพบที่มีจุดเริ่มต้นจากเรื่องเล่า เรื่องราวในอดีตของดินแดนที่บวรพระพุทธศาสนารุ่งเรืองในบริเวณนี้เช่นกัน (แม้จะมีความพยายามจะขุดค้นหลายครั้งในอดีตทั้งบริเวณเกาะดอนแท่น (เกาะดอนหลวง) ของฝั่งไทย และเกาะดอนแท่นในปัจจุบันของ สปป. ลาว ก็ยังไม่เคยขุดค้นพบร่องรอยใด ๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การขุดค้นพบครั้งใหญ่ในคราวนี้ สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธในพื้นที่บริเวณนี้ และอดีตอันรุ่งเรืองของเมืองเชียงแสนและเมืองต้นผึ้งที่มีความศรัทธาและรากฐานทางด้านพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกันมาอย่างยาวนาน
 
การขุดค้นพบพระพุทธรูปในฝั่ง สปป. ลาว ข้างต้นจึงเป็นเรื่องที่น่าปิติยินดีอย่างยิ่ง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของคนสองประเทศที่มีพื้นเพและความเชื่อความศรัทธาร่วมกัน สะท้อนถึงความใกล้ชิดกันของผู้คนสองฝั่งโขงที่ไม่มีพรมแดนกั้นได้อย่างดีการพบพระมิ่งขวัญเมืองก่อนวันฉลองบุญพระใหญ่วิสาขบูชาที่ผ่านมา และการเดินทางของพุทธศาสนิกชนหลายพันคนเพื่อไปกราบสักการะด้วยตนเอง และเป็นสักขีพยานความงดงามของพระเจ้าองค์หลวง ณ วัดทองทิบ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว จึงเป็นเครื่องยืนยันความศรัทธาของพี่น้องสองฝั่งโขงที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวผู้เขียนขอใช้โอกาสนี้ร่วมแสดงความยินดีกับพี่น้องชาว สปป. ลาว ด้วยอีกทางหนึ่ง
*การเปลี่ยนแปลงทางภูมิประเทศจากอดีตจนปัจจุบัน รวมถึงการกัดเซาะของแม่น้ำโขงตลอดเวลาที่ยาวนาน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวหายไป โดยจากภาพถ่ายของกรมแผนที่ทหารเมื่อ ม.ค. 2530-2532 ไม่พบร่องรอยของเกาะดังกล่าวอีกแล้ว
 
ข้อมูลอ้างอิง
ขอขอบคุณรูปภาพจาก FB คุณ To Be (Photo Be)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ