บทความ อนาคตเศรษฐกิจที่สดใสของอาเซียน โดย คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

บทความ อนาคตเศรษฐกิจที่สดใสของอาเซียน โดย คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ม.ค. 2566

| 523 view

บทความ อนาคตเศรษฐกิจที่สดใสของอาเซียน โดย คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

บทความ อนาคตเศรษฐกิจที่สดใสของอาเซียน

โดย คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

กว่าสองปีแล้วที่โลกของเราเผชิญการระบาดของ COVID-19 ระบบเศรษฐกิจและสังคมได้รับผลกระทบกัน
ถ้วนหน้า แต่ขณะนี้ก็เหมือนจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง เมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์ World Economic Forum (WEF) และหนังสือพิมพ์ The Jakarta Post ได้เผยแพร่บทความโดยนาย Joo-ok Lee ตำแหน่ง Head, Regional Agenda – Asia-Pacific, Member of the Executive Committee, WEF เกี่ยวกับอนาคตทางเศรษฐกิจของอาเซียน ที่อ่านแล้วก็รู้สึกใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง ขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

  1. อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่พึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติ และได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 จนทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) ลดลง แต่เราคงมองตัวเลขนั้นเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของ FDI จากทั่วโลกในอาเซียน จะพบว่าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.9 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 13.7 ในปี 2563 ในขณะที่ FDI ภายในอาเซียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 17 สะท้อนว่าอาเซียนยังคงมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุน นอกจากนี้ มูลค่าการกู้ยืมเงินสำหรับโครงการต่าง ๆ ในอาเซียน ก็เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว จาก 3.7 หมื่นล้านในช่วงปี 2558-2560 เป็น 7.4 หมื่นล้าน ในช่วงปี 2561-2563  ทำให้อาเซียนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และน่าจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่เป็นอันดับห้าของโลก
  2. หากอาเซียนจะเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยต่อไปนี้

2.1 การรับมือผลกระทบของ COVID-19 – ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันจัดทำแผนและข้อริเริ่มที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูและสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคมากมาย เช่น COVID-19 ASEAN Response Fund ที่ไทยเสนอตั้งแต่เกิดการระบาดใหม่ ๆ ตลอดจน Hanoi Plan of Action on Strengthening ASEAN Economic Cooperation and Supply Chain Connectivity in Response to the COVID-19 Pandemic แม้ชื่อจะยาว แต่หลักใหญ่ใจความคือเป็นแผนสร้างเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน ไม่ให้ถูก COVID-19 “disrupt” จนย่ำแย่

2.2 ความตกลง RCEP – ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2565 จะสนับสนุนการค้า การลงทุน และการบริการเสรีระหว่างประเทศภาคีความตกลง รวมทั้งการพัฒนา e-commerce ซึ่งสำคัญยิ่งต่อห่วงโซ่มูลค่าและตลาดในภูมิภาค นอกจากนี้ เมื่อคำนึงว่า การลงทุนร้อยละ 40 ในอาเซียน มาจากประเทศภาคีความตกลง RCEP การมีผลบังคับใช้ของความตกลงจึงเป็นโอกาสดีมากที่จะส่งเสริม FDI ที่ยั่งยืนในภูมิภาค

2.3 การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล – แม้ว่าก่อนหน้าการระบาดของ COVID-19 ก็จะเตรียมการกันไว้อยู่แล้ว แต่มาตรการจำกัดการเดินทาง การเว้นระยะห่างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาด ก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล อาเซียนได้จัดทำและรับรองเอกสารเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ระบบ Cloud Computing ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และการลดช่องว่างทางดิจิทัล เช่น Consolidated Strategy on the Fourth Industrial Revolution และ ASEAN Agreement on Electronic Commerce

อีกสิ่งหนึ่งที่คุณ Joo-ok Lee มองว่า อาเซียนน่าจะเรียนรู้จากการระบาดของ COVID-19 ก็คือความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เพียงเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลและขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและนวัตกรรม แต่เป็นสิ่งที่แยกออกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะจะทำให้การพัฒนายั่งยืน โดยอาเซียนได้มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งหวังว่าภาคเอกชนจะร่วมขับเคลื่อนการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว และเพิ่มอุปสงค์ในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำด้วย

การฟื้นฟูหลังการระบาดของ COVID-19 เริ่มมีแสงนำทางให้เห็นไกล ๆ แต่พวกเราทุกคนก็คงต้องจับมือกันให้มั่น และค่อย ๆ ก้าวไปให้ถึงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้น อย่าสะดุดหกล้มจนเสียเวลากันไปเสียก่อน

สามารถเรียกดูบทความของคุณ Joo-ok Lee ได้ทาง https://tinyurl.com/3y7kxv8e

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ