พัฒนาการอุตสาหกรรมตัดเย็บของ สปป. ลาว

พัฒนาการอุตสาหกรรมตัดเย็บของ สปป. ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 ม.ค. 2566

| 1,496 view

อุตสาหกรรมตัดเย็บเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาล สปป.ลาว ให้การส่งเสริมเพื่อลดการพึ่งพาและสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติไปสู่การผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมเบา (Light Industry)  เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย สร้างงานให้แก่ประชาชน ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และสามารถสร้างรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศอีกด้วย

ในปี 2564 ภาคอุตสาหกรรม สปป. ลาวมีอัตราการขยายตัวคิดเป็นร้อยละ 34 ของ GDP (ขยายตัวลดลงร้อยละ 2.65 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา) โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.10 ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด และอยู่ในอันดับที่ 7 รองจากอุตสาหกรรมพลังงาน ก่อสร้าง การแปรรูปอื่น ๆ เหมืองแร่และการขุดค้น การแปรรูปอาหาร และเครื่องดื่มและบุหรี่ ตามลำดับ

สปป. ลาวก่อตั้งโรงงานตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มแห่งแรกในปี 2527 ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 77 แห่ง ตั้งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ 72 แห่ง แขวงเวียงจันทน์ 1 แห่ง แขวงจำปาสัก 2 แห่ง และแขวงสะหวันนะเขต 2 แห่งแบ่งออกเป็นโรงงานที่ผลิตเครื่องนุ่งห่มเพื่อส่งออกเป็นหลักจำนวน 50 แห่ง และโรงงานที่ผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ 27 แห่ง สร้างงานได้ 25,000 ตำแหน่ง สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่ ได้แก่ เครื่องแบบ เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต เสื้อโปโล เสื้อทำงานแจ๊คเก็ต ยีนส์ ชุดชั้นใน ชุดเครื่องนอน ถุงเท้า รองเท้าและอื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของ สปป. ลาว ได้แก่ ยุโรป
ร้อยละ 80 ญี่ปุ่น ร้อยละ 9 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 4 และแคนาดา ร้อยละ 2

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการบางส่วนหยุดการผลิต และบางส่วนลดกำลังการผลิตชั่วคราวเพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องการการแพร่ระบาดของรัฐบาล สปป. ลาว อีกทั้งอุตสาหกรรมตัดเย็บของ สปป.ลาวได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมตัดเย็บทั่วโลก กล่าวคือ หลายบริษัทประสบปัญหาถูกยกเลิกคำสั่งซื้อจากบริษัทที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายสินค้าต่าง ๆ การชะลอการผลิตวัสดุ อุปกรณ์ด้านการตัดเย็บจากผู้ผลิตในต่างประเทศอันเนื่องมาจากการ lockdown ในหลายเมือง และปัญหาความล่าช้าในการจัดส่งและมอบสินค้า

ในปี 2563 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของ สปป. ลาวมีมูลค่า 188 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 11.32 เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่วนในปี 2564 มูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นเป็น 189 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงเดือน ม.ค. – มิ.ย. 2565 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่า 99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนโยบายผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 โรงงานตัดเย็บหลายแห่งเริ่มเปิดดำเนินการผลิตตามปกติ และอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากผลกระทบ สำหรับการนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่ม ช่วงเดือน ม.ค. – มิ.ย. 2565 สปป. ลาวนำเข้าเครื่องนุ่งห่มประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเข้าจากจีนมากที่สุดมูลค่า 8.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือเวียดนาม 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทย 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การพัฒนาอุตสาหกรรมตัดเย็บใน สปป. ลาว เผชิญกับข้อจำกัดหลายด้าน อาทิ จำนวนแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของ สปป. ลาวมีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้สัดส่วนแรงงานในภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มขาดแคลน แม้ว่า สปป. ลาวจะมีข้อได้เปรียบด้านอัตราค่าจ้างแรงานที่มีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ศักยภาพในการผลิตยังมีน้อย แรงงานเลือกจะทำงานในอุตสาหกรรมอื่นที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า รวมถึงแรงงานลาวส่วนหนึ่งย้ายไปทำงานต่างประเทศ สำหรับนักลงทุน ผู้ประกอบการระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กยังประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และปัญหาเงินกีบอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์และบาท ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าสำหรับการผลิตเครื่องนุ่งห่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต

เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมตัดเย็บใน สปป.ลาว สมาคมอุตสาหกรรมตัดเย็บ สปป. ลาวผลักดันนโยบายส่งเสริมให้โรงงานตัดเย็บทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถดำเนินการได้มากขึ้น โดยส่งเสริมให้หนึ่งกลุ่มบ้าน มีหนึ่งร้านตัดเย็บเพื่อสร้างรายรับให้ผู้ประกอบรายย่อย และทำให้ประชาชนได้ใช้สินค้าที่ผลิตภายในชุมชน ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้สนับสนุนและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ลาวที่ผลิตภายในประเทศเพื่อลดการรั่วไหลของเงินตราต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ รัฐบาล สปป.ลาว ยังได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการในวิสาหกิจขนาดกลางและเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง
https://eriit.moic.gov.la/researcheriitlao/

https://www.moic.gov.la/?page_id=6994
https://laoedaily.com.la/2022/10/03/117658/

file:///I:/downloads/Yearbook2021_Final%2022.04.2022%20(1).pdf

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ