ยุทธศาสตร์การดึงดูดการลงทุนของลาว กับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง
สปป. ลาว เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อก้าวส่งเสริมบทบาทในการเป็นฐานการลงทุนโดยเฉพาะจากนักลงทุนอาเซียน โดยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะจำนวนทั้งสิ้น 12 แห่ง ที่มีการอนุมัติและดำเนินการแล้ว ประกอบด้วย (1) เขตเศรษฐกิจสะหวัน-เซโน (2) เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม (3) เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมทองคำ
(4) นิคมอุตสาหกรรมและการค้าเวียงจันทน์ (5) เขตเศรษฐกิจพิเศษไชเสดถา (6) เขตเศรษฐกิจเฉพาะท่าแขก (7) เขตเศรษฐกิจพิเศษล่องแทง-เวียงจันทน์ (8) เขตเศรษฐกิจพิเศษดงโพสี (9) เขตเศรษฐกิจเฉพาะบึงธาตุหลวง (10) เขตเศรษฐกิจเฉพาะภูเขียว (11) เขตเศรษฐกิจพิเศษปากเซ-ญี่ปุ่น และ (12) เขตเศรษฐกิจพิเศษหลวงพระบาง
รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมนักลงทุนทั้งจากภายในและต่างประเทศ ที่มีความประสงค์จะเข้าลงทุนและพัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้วยการให้สิทธิพิเศษในการพิจารณาข้อตกลงที่เกี่ยวกับการลงทุน การดำเนินธุรกิจ การผลิต การบริการ ด้วยกลไกการคุ้มครองเฉพาะ เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัย การผลิตสินค้าที่ควบคู่ไปกับการประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จากปัจจัยดึงดูดการลงทุนต่าง ๆ ประกอบกับการที่ สปป.ลาว มีเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะหลายแห่ง ส่งผลให้ สปป. ลาว มีศักยภาพในการรองรับกิจกรรมทางการค้าและการลงทุนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว สอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ให้ สปป. ลาว เป็น land bridge ของอนุภูมิภาค เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระหว่างไทย-เวียดนาม-กัมพูชา-จีนตอนใต้ โดยธุรกิจที่มีศักยภาพในการลงทุนได้แก่ ท่องเที่ยว บริการ สิ่งทอ อะไหล่รถยนต์ และเกษตรแปรรูป
เขตเศรษฐกิจพิเศษกลายเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งพิจารณาได้จากการออกนโยบายและกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเฉพาะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ มีการออกกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกในการก่อตั้งและดำเนินการ มีนโยบายยกเว้นภาษีสรรพากร และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะในประเทศในแต่ละช่วง
เขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์มีจำนวน 5 แห่ง มีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนแล้วกว่า 178 บริษัท มีทุนจดทะเบียนมูลค่ากว่า 686 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีแผนการลงทุนทั้งหมดประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการลงทุนแล้วกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าการส่งออกสินค้าประมาณ 163 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มาจากจีน ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ
เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม ที่ตั้งอยู่แขวงหลวงน้ำทา เขตภาคเหนือของ สปป. ลาว สามารถดึงดูดการลงทุนแล้วกว่า 260 บริษัท มีทุนจดทะเบียนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปัจจุบัน
เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นได้เริ่มพัฒนาที่ดินโดยการปรับให้เป็นพื้นที่ราบเพื่อรองรับการลงทุนในเนื้อที่จำนวน 1,131 เฮกตาร์ (7,068.75 ไร่)
ปลายปี 2564 แขวงพงสาลีได้ลงนาม MOU อนุญาตให้บริษัท ยู่เจิงจากจีน สำรวจความเป็นไปได้ ในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยม “ลาว-จีน-เวียดนาม” บนเนื้อที่ 250 ตารางกิโลเมตร ที่เมืองยอดอู ระยะเวลาสำรวจ 18 เดือนสำหรับการจัดทำผลการศึกษาความเป็นไปได้ แผนของโครงการ และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อนำเสนอต่อแขวง เนื้อที่สำหรับสร้างเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม 150 ตารางกิโลเมตร เขตบริการและท่องเที่ยวอีก 100 ตารางกิโลเมตร
เขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะของ สปป. ลาว มีความคืบหน้าและพัฒนาการที่สำคัญหลายด้าน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ สปป. ลาวต้องระวังในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อาทิ สถานการณ์การค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน ยังมาภาระการชำระหนี้ต่างประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงและสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจจะร้ายแรงขึ้นกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือ และแก้ไข เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในอนาคต
https://investlaos.gov.la/lo-la/%E0%BA%9A%E0%BB%88%E0%BA%AD%E0%BA%99%E0%BA%97%E0%BA%B5%E0%BB%88%E0%BA%A5%E0%BA%BB%E0%BA%87%E0%BA%97%E0%BA%B6%E0%BA%99/%E0%BB%80%E0%BA%82%E0%BA%94%E0%BB%80%E0%BA%AA%E0%BA%94%E0%BA%96%E0%BA%B0%E0%BA%81%E0%BA%B4%E0%BA%94%E0%BA%9E%E0%BA%B4%E0%BB%80%E0%BA%AA%E0%BA%94-%E0%BA%82%E0%BA%9E%E0%BA%AA/
https://v2.vientianemai.net/page/10
http://laosez.gov.la/index.php/en/component/content/article/11-f-arcticle/18-2022-06-27-03-33-23?Itemid=101