สปป. ลาว กับการเป็นสังคมเยาว์วัย: โอกาสและความท้าทายในการพัฒนาที่ยั่งยืน

สปป. ลาว กับการเป็นสังคมเยาว์วัย: โอกาสและความท้าทายในการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 พ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 พ.ย. 2567

| 6 view

ปัจจุบัน หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว อาทิ ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยอย่างชัดเจน เนื่องจากอัตรา การเกิดของประชากรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยยืนนานขึ้นเนื่องจากพัฒนาการด้านการแพทย์ แต่ยังมีอีกหนึ่งประเทศในอาเซียนที่มีโครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมเยาว์วัย (young society) คือ สปป. ลาว โดยมีจำนวนประชากรในวัยเด็กและวัยทำงานในสัดส่วนสูงที่กว่ากลุ่มประชากรวัยสูงอายุอย่างมาก ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ ณ เวียงจันทน์ (BIC Vientiane) จึงได้จัดทำบทความนี้ขึ้นเพื่อวิเคราะห์ลักษณะและผลกระทบของการเป็นสังคมเยาว์วัยใน สปป. ลาว และแนวทางการส่งเสริมความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมถึงความท้าทายในการพัฒนาที่ยั่งยืนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

จากข้อมูลสถิติปี 2567 (ค.ศ. 2024) สปป. ลาวมีประชากรทั้งประเทศประมาณ 7.6 ล้านคน โดยประชากรวัยเด็กและเยาวชน (อายุ 0-14 ปี) มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประชากรวัยทำงาน (15-64 ปี) มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 65 - 67 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดในโครงสร้างประชากรของ สปป. ลาว ส่วนกลุ่มประชากรวัยสูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) มีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 5

ด้วยโครงสร้างในลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่า ฐานประชากรที่กว้าง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญของโครงสร้างพีระมิด เป็นประชากรในกลุ่มสังคมเยาว์วัย และแตกต่างจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อาทิ สิงคโปร์และไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว อันเป็นผลจากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชากรวัยทำงานและวัยเยาว์ลดลง ในขณะเดียวกันประชากรสูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเปรียบเทียบกับกรณีของสิงคโปร์ ในปัจจุบันสิงคโปร์มีผ้สูงอายุในวัย 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยเมื่อปี 2561 มีผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 16.0 (ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ) ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2583 โครงสร้างประชากรในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงอย่างมากคือ มีประชากรวัยทำงาน (15-59 ปี) ร้อยละ 55.1 ประชากรวัยเด็ก (แรกเกิด- 14 ปี) ร้อยละ 12.8 และมีผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) สูงถึงร้อยละ 32.1 ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่าง รวมทั้งการวางแผนโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้

การเป็นสังคมเยาว์วัยของ สปป. ลาว สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของ สปป. ลาว ที่จะเป็นจุดแข็งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศระยะต่อไป การมีจำนวนประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นสามารถช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และช่วยยกระดับการพัฒนารายได้ของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการบริหารจัดการที่ดีและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเหมาะสม จะสามารถส่งผลให้พัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกัน รัฐบาล สปป.ลาวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมข้อได้เปรียบจากสังคมเยาว์วัยเชื่อมโยงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs ใน 4 เป้าหมายสำคัญ ดังนี้

1. เป้าหมายที่ 4 การสร้างหลักประกันว่าเด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การให้โอกาสทางการศึกษาและการฝึกอาชีพที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ใน สปป. ลาว ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันในตลาดแรงงาน ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพและลดอัตราการว่างงาน ปัจจุบัน สปป.ลาว ยังคงประสบความท้าทายในระบบการศึกษาที่ยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งปัญหาเด็กออกจากระบบการศึกษา ดังนั้น หากสามารถพัฒนาและส่งเสริมด้านการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงาน (upskill/reskill) ได้ น่าจะสามารถใช้ข้อได้เปรียบจากการมีฐานพีระมิดประชากรที่มีศักยภาพในวัยเยาว์และวัยแรงงานเพื่อเพิ่มโอกาสในการยกระดับความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสามารถต่อยอดการพัฒนาประเทศได้ต่อไป

2. เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย การสร้างระบบสวัสดิการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในด้านการป้องกันและรักษาโรค รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพจิตและพัฒนาการของเยาวชน ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและการเจริญเติบโตของประชากรในอนาคต นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจแล้ว การพัฒนาโครงสร้างด้านสาธารณสุขและการพัฒนาโดยคำนึงถึงคนทุกช่วงวัยก็จะเป็นอีกประเด็นสำคัญที่รัฐบาล สปป.ลาว และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสังคมที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับภาพรวมการพัฒนาของประชาคมโลกด้วยเช่นเดียวกัน

3. เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน การเพิ่มโอกาสในการทำงานและการพัฒนาฝีมือแรงงานมีความสำคัญใน สปป. ลาว เนื่องจากการพัฒนาศักยภาพให้กับฐานประชากรวัยทำงานจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนด้านการศึกษาและการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตอบสนองและสนับสนุนภาคการผลิต เพื่อรองรับความต้องการทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญที่รัฐบาล สปป. ลาวจะต้องกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมอย่างเหมาะสม

4. เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้มีคุณภาพ เช่น การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและการบริการด้านโลจิสติกส์ในประเทศ การยกระดับคุณภาพการศึกษา การปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ เป็นต้น เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานเป็นรากฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรภายในประเทศ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม สปป. ลาว ดำเนินนโยบายส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมด้านเศรษฐกิจในหลากหลายมิติอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตของประชาชน การเติบโตของชุมชนเมือง และการรักษาสิ่งแวดล้อม

การกำหนดแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาข้างต้นของ สปป.ลาว และการบริหารจัดการทรัพยากรที่สำคัญในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรมนุษย์ที่ถือว่า สปป.ลาวมีข้อได้เปรียบสำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้ สปป. ลาว เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยจุดแข็งที่มีในประเทศ รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐในฐานะผู้กำหนดนโยบายและทิศทางของประเทศ ภาคเอกชนที่จะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตด้านเศรษฐกิจและการจ้างงาน ตลอดจนภาคประชาสังคมที่จะสามารถช่วยสร้างองค์ความรู้ ความตระหนักรู้ ขับเคลื่อนการพัฒนาที่จะช่วยให้ สปป. ลาว ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจและการเติบโตของประเทศได้

ความท้าทายในการพัฒนาที่ยั่งยืนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางโอกาสสำคัญ ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ สปป. ลาว จะต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ กำลังประสบอยู่เช่นกัน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาทางสังคมที่มาพร้อมกับความเจริญทางเศรษฐกิจ หรือกฎระเบียบด้านการค้า การลงทุน และการเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องร่วมกันกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อป้องกันและรับมือกับสิ่งท้าทายเหล่านี้ โดยให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องเตรียมการสำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงวัยในอนาคตด้วย การพัฒนาระบบประกันด้านสุขภาพและสวัสดิการแก่ทั้งประชากรวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ และการวางแผนจากภาครัฐล่วงหน้าที่มีความรัดกุมและครอบคลุม จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่นำ สปป. ลาวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวและพร้อมจะรองรับโครงสร้างประชากรที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

 
บทความโดย ศศิกานต์ โชติศรี
BIC Vientiane สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
 

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.un.org/development/desa/pd/world-population-prospects-2024

https://laopdr.un.org/en/260368-lao-pdr-undp-regional-human-development-report-2024

https://desapublications.un.org/publications/world-population-prospects-2024-summary-results

https://www.aseanstats.org/publication/ash-2024/?portfolioCats=22%2C41%2C53%2C57%2C52%2C23%2C24%2C25%2C26%2C27%2C28%2C29%2C30%2C62%2C73%2C76%2C77%2C79%2C80%2C86%2C104