อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราใน สปป. ลาว และแนวโน้มการเติบโตของตลาดยางพารา

อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราใน สปป. ลาว และแนวโน้มการเติบโตของตลาดยางพารา

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 ม.ค. 2566

| 2,480 view
อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราใน สปป. ลาว และแนวโน้มการเติบโตของตลาดยางพารา
 
เมื่อเดือน ส.ค. 2565 ศูนย์ BIC สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ได้จัดทำบทความเรื่อง “มันสำปะหลังและยางพารา พืชเศรษฐกิจใหม่ของ สปป. ลาว” ซึ่งมีโอกาสเติบโตใน สปป. ลาว
ได้ด้วยดี บทความในฉบับนี้ จะขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราใน สปป. ลาว และแนวโน้มการเติบโตของตลาดยางพาราเพิ่มเติม เพื่อเจาะลึกถึงบทบาทอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราและโอกาสการเติบโตในระยะต่อไป
 
รัฐบาล สปป. ลาวให้ความสำคัญกับการผลิตเกษตรให้เป็นสินค้าตามเขตเพื่อลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศ จึงกำหนดให้ยางพาราเป็นหนึ่งในพืชที่มีความสำคัญลำดับต้นของชาติไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนากสิกรรมจนถึงปี 2568 และวิสัยทัศน์จนถึงปี 2573 เพื่อให้สามารถแข่งขัน และเป็นสินค้าส่งออกโดยเฉพาะยางพาราดิบและยางพาราก้อนอัดไฮดรอลิค
 
สปป. ลาว ตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับหลายประเทศ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ค่าเช่าที่ดินราคาถูก แหล่งพลังงานไฟฟ้ามีราคาถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งมีเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านรถไฟลาว-จีน ทำให้ สปป.ลาว เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเงื่อนไขเหมาะสมเป็นฐานผลิตสินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูปจากยางพาราของภูมิภาคในอนาคต
 
พื้นที่ปลูกยางพาราส่วนใหญ่ใน สปป. ลาวอยู่ในเขตภาคเหนือ รองลงมาคือภาคกลางและภาคใต้ ตามลำดับ พันธุ์ยางพาราที่ปลูกใน สปป. ลาวแบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ยางจากมาเลเซีย RRIM-600 (ปลูกในภาคกลางและภาคใต้) พันธุ์ยางจากไทย RRIT-251 และ GT-1 (ปลูกในภาคกลางและภาคใต้) พันธุ์ยางจากเวียดนาม 260 (ปลูกในภาคกลางและภาคใต้) และพันธุ์ยางจากจีน 774 (ปลูกในภาคเหนือ) ตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญของ สปป. ลาว ได้แก่ เวียดนาม จีน และไทย โดยที่ยางพาราสามารถแปรรูปเป็นสินค้าได้หลายรูปแบบ และเป็นที่ต้องการในตลาดระหว่างประเทศทำให้ยางพาราเป็นพืชที่ได้รับความนิยมและเป็นสินค้าส่งออกหลักของ สปป. ลาว
 
ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยางพาราแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมยางพาราส่วนต้น เป็นอุตสาหกรรมขั้นต้นเริ่มตั้งแต่การปลูกยางพารา การกรีดยางพารา น้ำยางพาราสด ยางพาราก้อน ยางพาราถ้วย หรือยางพาราแผ่นดิบ (2) อุตสาหกรรมยางพาราส่วนกลาง ต่อยอดจากอุตสาหกรรมยางพาราส่วนต้น โดยรับซื้อวัตถุดิบยางพาราจากอุตสาหกรรมยางพาราขั้นต้นน้ำมาผลิตในโรงงานแปรรูป ยางพาราแผ่นรมควันน้ำยางพาราข้น ยางพาราอัดแท่ง ยางพาราอัดก้อนสู่กระบวนการจำหน่ายให้กับผู้ซื้อโดยตรงและผู้ค้ายางพาราภายในและต่างประเทศ และ (3) อุตสาหกรรมยางพาราส่วนปลาย ต่อยอดจากอุตสาหกรรมส่วนกลาง โดยรับซื้อวัตถุดิบยางพาราที่แปรรูปจากอุตสาหกรรมขั้นกลางมาผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ยางรถยนต์ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และอื่น ๆ เพื่อจัดจำหน่ายให้ผู้บริโภค
 
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราใน สปป. ลาวจัดอยู่ในระดับอุตสาหกรรมยางพาราส่วนกลางส่วนใหญ่ผลิตยางพาราในรูปแบบอัดแท่งหรือยางพาราอัดก้อน (Rubber Block) น้ำหนักประมาณ 32-35 กิโลกรัม ต่อก้อน โดยส่วนใหญ่มุ่งส่งออกไปจีน เพื่อเป็นวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราส่วนปลาย อาทิ การผลิตอุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน และอื่นๆ
 
สปป. ลาวมีโรงงานแปรรูปยางพาราทั้งหมด 69 แห่ง มีกำลังการผลิต 50 – 30,000 ตันต่อปี ประกอบด้วยโรงงานแปรรูปยางพาราแผ่นและอัดก้อนที่กำลังดำเนินธุรกิจจำนวน 54 แห่ง โรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 15 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนชาวจีน เวียดนาม และมีการร่วมทุนระหว่าง สปป. ลาวกับต่างประเทศ การแปรรูปของโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราใน สปป. ลาว ส่วนใหญ่แปรรูปยางพาราก้อนโดยเก็บซื้อก้อนยางถ้วยจากชาวสวนแล้วนำมาแปรรูปเป็นยางพาราอัดแท่งที่มีน้ำหนัก ขนาด และการห่อหุ้มตามมาตรฐานโรงงานที่ตลาดต้องการเพื่อสะดวกในการขนส่ง และรักษาคุณภาพของยางพารา สำหรับโรงงานการแปรรูปผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากยางพาราเพื่อใช้ภายในและส่งออกใน สปป. ลาวยังไม่มี
 
ในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2565 สินค้าด้านการเกษตรถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนสินค้าส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าเกษตรที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ มันสำปะหลัง มูลค่า 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งออกไปไทย เวียดนาม และจีนมากที่สุด กล้วย มูลค่า 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งออกไปจีน ไทย และเวียดนามมากที่สุด และยางพารามูลค่า 132 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งออกไปจีน เวียดนามและมาเลเซียมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคของผู้ผลิตยางพาราใน สปป. ลาวยังไม่เป็นที่รับรู้เท่าที่ควรจากผู้ผลิตยางพาราในภูมิภาค ซึ่งมีประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตยางพารา อาทิ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียเป็นหลัก การส่งออกยางพาราของลาวส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในนามบริษัทต่างประเทศที่ได้โควตาจากรัฐบาลจีน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการจำหน่ายผ่านระบบการค้าชายแดนที่ไม่แสดงแหล่งผลิตจาก สปป. ลาวเมื่อส่งไปถึงมือผู้ชื้อ
 
เมื่อพิจารณาปัจจัยข้างต้น จึงเป็นโอกาสดีหากไทยจะพัฒนาความร่วมมือกับ สปป. ลาว ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากยางพาราเพื่อใช้ภายในและส่งออก เนื่องจาก สปป. ลาว มีที่ดินและอากาศที่เหมาะสมต่อเพาะปลูก และการก่อตั้งโรงงาน ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติน้อย นอกจากนี้ สปป. ลาวยังได้รับสิทธิพิเศษ
ทางศุลกากร และโควตาในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ อย่างไรก็ตาม สปป. ลาวยังมีความท้าทายเกี่ยวกับการแปรรูปยางพารา อาทิ แรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารายังต้องการพัฒนาทักษะฝีมือ ยังคงต้องพัฒนาฐานข้อมูลการเชื่อมโยงในการผลิตตั้งแต่ส่วนต้นจนถึงส่วนปลาย รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพารา จึงกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราถือเป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีศักยภาพสูงและน่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการแปรรูปสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา
 
ข้อมูลอ้างอิง
ยุทธศาสตร์การพัฒนากสิกรรมจนถึงปี 2568 และวิสัยทัศจนถึงปี 2573

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ