กาแฟลาว สินค้าการเกษตรยอดนิยมในการส่งออกของ สปป. ลาว

กาแฟลาว สินค้าการเกษตรยอดนิยมในการส่งออกของ สปป. ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ต.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 ม.ค. 2566

| 4,390 view

กาแฟลาว สินค้าการเกษตรยอดนิยมในการส่งออกของ สปป. ลาว

กาแฟ นับเป็นสินค้าส่งออกที่สามารถสร้างรายได้เข้า สปป.ลาวจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี สมาคมกาแฟลาว (Lao Coffee Association: LCA) ระบุว่า การส่งออกกาแฟ ระหว่างเดือน ม.ค. – มิ.ย. 2565 ปริมาณ 14,559 ตัน คิดเป็นมูลค่า 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียมูลค่า 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกไปยังตลาดยุโรปมูลค่า 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กาแฟที่ผลิตใน สปป. ลาวส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็นและชื้นเหมาะสำหรับการปลูกกาแฟ นอกจากนี้ การปลูกกาแฟทางตอนเหนือของ สปป. ลาวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนักวิจัยด้านการเกษตรพบว่า มีภูเขาที่มีความเหมาะสมในการปลูกกาแฟ จึงได้ส่งเสริมการปลูกกาแฟทดแทนการปลูกฝิ่น

สปป. ลาวนิยมปลูกกาแฟ 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ Robusta ร้อยละ 80 และ Arabica ร้อยละ 20 ตั้งแต่ปี 2558 – 2565 การปลูกกาแฟของ สปป. ลาวได้รับการพัฒนาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพเนื่องจากมีนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุน อันเป็นผลจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟที่มีคุณภาพ

ในปี 2564 สปป. ลาว มีพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมด 85,050 เฮกตาร์ สามารถสร้างผลผลิต 161,200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยพื้นที่การปลูกกาแฟครอบคลุม 11 แขวง ได้แก่ พงสาลี อุดมไซ หัวพัน หลวงพระบาง ไซยะบุลี เชียงขวาง ไซสมบูน สาละวัน เซกอง อัดตะปือ และแขวงจำปาสัก แขวงที่มีพื้นที่การปลูกกาแฟมากที่สุด คือ แขวงจำปาสัก 51,200 เฮกตาร์ แขวงสาละวัน 19,987 เฮกตาร์ และแขวงเซกอง 9,150 เฮกตาร์ ตามลำดับ

ตามข้อมูลของสหกรณ์ผู้ผลิตกาแฟเขตที่ราบสูงโบลาเวน แขวงจำปาสักซึ่งเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่สำคัญของ สปป. ลาว รายงานว่า ในช่วง 1 ปีผ่านมาสามารถผลิตกาแฟดิบได้ 5,500 ตัน ลดลงร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับ
ปีที่ผ่านมา สามารถแปรรูปและส่งออกได้ 938 ตัน มูลค่า 3.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากผู้ผลิตให้ความสำคัญด้านคุณภาพของเมล็ดกาแฟ ผลผลิตทั้งหมดปลูกแบบปลอดสารเคมี ปัจจุบัน
สหกรณ์ฯ มีสมาชิกกว่า 799 ครอบครัว ใน 3 เมืองของ 3 แขวงภาคใต้ อาทิ เมืองเล่างาม แขวงสาละวัน เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก และเมืองท่าแตง แขวงเซกอง

นอกจากนี้ รัฐบาล สปป. ลาว ยังกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนากาแฟของลาว ปี 2564-2568 ให้เป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของประเทศเพื่อช่วยพัฒนาด้านเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น คาดว่า สปป. ลาวจะส่งออกกาแฟไปยังสหภาพยุโรปได้มากขึ้น โดยเฉพาะกาแฟออร์แกนิค ปัจจุบัน กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรรายย่อย ใน สปป. ลาวและเป็นสินค้าส่งออกไปกว่า 26 ประเทศในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ตาม การผลิตกาแฟยังคงเผชิญกับความท้าทายโดยเฉพาะปริมาณผลผลิต รวมถึงพื้นที่ปลูกกาแฟที่มีจำนวนลดลงมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟหันไปปลูกมันสำปะหลัง และยางพารา
ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ แต่ในขณะเดียวกันปริมาณความต้องการกาแฟลาวของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นปัญหาที่สำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรกลับมาปลูกกาแฟอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และเพียงพอกับความต้องการของตลาดในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.laophattananews.com/archives/125064

https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos_to_129.php

https://laocoffeeassociation.sensible.coffee/en/lots/auction/laos-coffee-association-2022?tab=overview

https://laotiantimes.com/2022/09/14/lao-coffee-exportation-concerns-amid-a-global-rise-in-prices/

https://www.laophattananews.com/archives/135908

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ