ทำความรู้จักบ่อเต็นพื้นที่ด่านหน้าสำคัญของสปป. ลาว
สปป. ลาว เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอาณาเขตชายแดนติดกับ 5 ประเทศ แบ่งการปกครองออกเป็น 17 แขวง 1 นครหลวงเวียงจันทน์ ดำเนินนโยบายเน้นเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กำหนดให้แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใช้ศักยภาพและโอกาสเชิงพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือ และความเชื่อมโยงกับประเทศในและนอกภูมิภาคเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (2564 – 2568)
พื้นที่บ่อเต็นถือเป็นพื้นที่เชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การบริการและอื่น ๆ ของ สปป. ลาว โดยบ่อเต็นเป็นชื่อเรียกของหมู่บ้านในเขตเมืองหลวงน้ำทา แขวงหลวงน้ำทา ตั้งอยู่ใกล้เขตชายแดนลาว-จีน ตรงข้ามกับเมืองโม่ฮาน เขตสิบสองปันนาของจีน มีเส้นทาง R3A เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าหลักระหว่างไทย-สปป. ลาว-จีน ปัจจุบันเส้นทางนี้บางช่วงเริ่มชำรุด และช่วงฤดูฝนการสัญจรไปมายากลำบากเนื่องจากเป็นถนน2 เลน และคดเคี้ยวตามภูเขา
นอกจากนี้ บ่อเต็นยังเป็นที่ตั้งด่านภาษีสากลบ่อเต็น ซึ่งมีความสำคัญในฐานะด่านที่ตั้งอยู่สถานีแรกของเส้นทางรถไฟลาว-จีน และเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมต่อเส้นทางขนส่งสินค้า ภายในด่านมีเครื่องมือที่ทันสมัย อาทิ ระบบแจ้งภาษีอัตโนมัติ และระบบ Smart Tax เครื่องตรวจด้วยระบบแสง ระบบ Easy Pass และอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเพิ่มเติม ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. 2565 มีการขนส่งสินค้าของไทยไปจีนผ่านด่านภาษีสากลบ่อเต็นทางรถบรรทุก จำนวน 21,538 ตู้ คิดเป็นมูลค่า 884.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการขนส่งสินค้าไทยโดยใช้รถไฟลาว-จีน จากสถานีเวียงจันทน์ใต้ไปยังสถานีนาเตย หลังจากนั้น ขนส่งต่อด้วยรถบรรทุกมายังด่านภาษีสากลบ่อเต็นเพื่อส่งออกไปจีน จำนวน 503 ตู้ คิดเป็นมูลค่า 38.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อปี 2546 รัฐบาล สปป. ลาวให้สัมปทานพื้นที่บ่อเต็นแก่บริษัท ฟุกฮิง ทราเวล จากฮ่องกงเพื่อก่อตั้งเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนคำ ประกอบด้วย พื้นที่โรงงาน สำนักงาน ร้านค้าปลอดภาษี และอื่นๆ ต่อมาเมื่อปี 2555 เปลี่ยนผู้ถือสัมปทานเป็นกลุ่มบริษัท ไห่เฉิงยูนนาน และเปลี่ยนชื่อเป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม” ประกอบด้วย 4 เขต ได้แก่ เขตการค้าและการเงิน
เขตท่องเที่ยวและพักผ่อน เขตอุตสาหกรรมแปรรูปการขนส่งและโลจิสติกส์ และเขตการศึกษาและการแพทย์
ในขณะเดียวกัน สปป.ลาว-จีน เห็นถึงโอกาสการพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งทางบกในภูมิภาคจีน-อาเซียน จึงร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงระหว่างบ่อเต็นกับพื้นที่อื่นๆ อาทิ (1) โครงการทางด่วนนครหลวงเวียงจันทน์-ด่านภาษีสากลบ่อเต็น ระยะทาง 460 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยยกระดับโครงข่ายเส้นทางทางบกไปยังประเทศจีน ลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้าขึ้นไปทางเหนือ ปัจจุบัน เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงแรก (นครหลวงเวียงจันทน์ – วังเวียง) เมื่อปี 2563 โดยสร้างเป็นทางคู่ขนานกับถนนหมายเลข 13 เหนือและทางรถไฟลาว – จีน มี 4 ช่องจราจร และอยู่ระหว่างการสำรวจเส้นทางเพื่อก่อสร้างช่วงที่ 4 (อุดมไซ – หลวงน้ำทา) ช่วงที่ 3 (หลวงพระบาง – อุดมไซ) และช่วงที่ 2 (วังเวียง – หลวงพระบาง) ตามลำดับ และ (2) โครงการทางด่วนจากด่านภาษีสากลบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา (ชายแดนลาว-จีน) ไปถึงเมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว (ชายแดนลาว-ไทย) ระยะทาง 176.3 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการเดินทางเพียง 1.5 ชั่วโมง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แล้ว คาดว่าจะส่งผลให้พื้นที่บ่อเต็น สถานีแรกของเส้นทางรถไฟลาว-จีนในฝั่ง สปป. ลาว และเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ กลายเป็นพื้นที่ศูนย์กลางด้านการขนส่ง เปลี่ยนถ่ายสินค้า การแปรรูปสินค้า การบริการและศูนย์แจกจ่ายสินค้าอย่างครบวงจร โดยใช้ศักยภาพในเชิงพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของ สปป. ลาวในอนาคตอีกด้วย
http://laosez.gov.la/index.php/en/where-invest/sezs-in-laos
https://www.mfa.go.th/th/content/eadroad090165?page=5d5bd3c915e39c306002a907&menu=5d5bd3d815e39c306002aac5
https://thaipublica.org/2022/05/pundop72/