รถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit: BRT) ใน สปป. ลาว

รถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit: BRT) ใน สปป. ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มิ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 มิ.ย. 2567

| 363 view
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 สปป. ลาวเริ่มดำเนินการก่อสร้างสถานีรถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit: BRT) ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลที่จะช่วยยกระดับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในนครหลวงเวียงจันทน์ โดยการปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทางและก่อสร้าง BRT ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงนครหลวงเวียงจันทน์จากเมืองศูนย์กลางที่แออัดให้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางที่เป็นมิตรกับคนเดินถนน ตลอดจนช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และเปลี่ยนไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นด้วย
 
โครงการ BRT เป็นระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายการให้บริการของรถโดยสารประจำทางของ Vientiane Capital State Bus Enterprise (VCSBE) และจะเพิ่มระบบตรวจสอบสถานะ ตำแหน่งของรถประจำทาง รวมทั้งระยะเวลาในการเดินทาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางจากสถานีขนส่งไปยังจุดอื่น ๆ ในเขตนครหลวงเวียงจันทน์ โดยโครงการ VCSBE ได้รับความช่วยเหลือด้านเทคนิคและด้านการเงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) กว่า 3.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยกระดับการให้บริการรถโดยสารสาธารณะของนครหลวงเวียงจันทน์และเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งที่มีอยู่
 
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 มีพิธีลงนามความตกลงร่วมกัน ระหว่างนายวิไลพัน ไซยะวง รองหัวหน้ากรมขนส่ง กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง และนายทรัพย์สง่า บุญคงประเสริฐ ประธานที่ปรึกษา บริษัท วัน ฟอร์มูล่า จำกัด (ประเทศไทย) ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อวางแผนก่อสร้างโครงการ BRT โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากโครงการการขนส่งอย่างยั่งยืนของนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มุ่งปรับปรุงการขนส่งสาธารณะและบรรเทาความแออัดของการจราจรในนครหลวงเวียงจันทน์ และได้รับความช่วยเหลือจาก
(1) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ที่อนุมัติเงินกู้จำนวน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(2) กองทุนโอเปกเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (OPEC Fund for International Development: OPEC fund) อนุมัติเงินกู้จำนวน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐและ (3) ธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (European Investment Bank: EIB) อนุมัติเงินกู้จำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ADB คาดการณ์ว่าประชาชนจะหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 0.6 เป็นร้อยละ 6 และระบบ BRT จะสามารถรองรับการให้บริการผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 48,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 25,000 ตันต่อปี ส่วนสำคัญของโครงการขนส่งสาธารณะนี้คือ ระบบ BRT ที่ทันสมัย มีเส้นทาง BRT ใหม่ 3 เส้นทางที่มีระยะทางรวมกว่า 149 กม. (เส้นทางจากบริเวณห้างสรรพสินค้า ITECC-นอนเต็ง เส้นทางท่าหงอน-ทองโป่ง และเส้นทางจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว-สวนเจ้าฟ้างุ้ม) โดยเส้นทาง BRT ระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว-สวนเจ้าฟ้างุ้ม จะประกอบด้วยช่องทางเดินรถประจำทางระยะทาง 12.9 กม. พร้อมสถานีรูปแบบปิด (สำหรับเดินรถ BRT) จำนวน 28 สถานี ที่จะพลิกโฉมระบบขนส่งสาธารณะใจกลางเมือง ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเมื่อระบบ BRT เสร็จสมบูรณ์ คือจะมีรถโดยสารไฟฟ้าใหม่ จำนวน 50 คัน สำหรับให้บริการประชาชน และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางไปยังจุดท่องเที่ยวสำคัญของนครหลวงเวียงจันทน์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และด้วยวิถีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
 
ข้อมูลอ้างอิง
https://kpl.gov.la/En/detail.aspx?id=78334
https://www.adb.org/news/adb-help-lao-pdr-s-vientiane-set-sustainable-transport-system
https://www.adb.org/projects/45041-002/main
https://www.adb.org/news/features/lao-pdr-setting-vientiane-road-sustainable-transport
เครดิตรูปภาพ: ธนาคาร ADB

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ