โอกาสการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ สปป. ลาว จากภาคการท่องเที่ยว

โอกาสการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ สปป. ลาว จากภาคการท่องเที่ยว

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ม.ค. 2566

| 4,239 view
โอกาสการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ สปป. ลาวจาก ภาคการท่องเที่ยว
 
สปป.ลาว เป็นพื้นที่ที่ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและน่าสนใจ ภาคบริการการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ สร้างโอกาสการจ้างงาน และส่งเสริมสาขาการบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจอาหาร โรงแรม สปา จัดประชุม การขายสินค้าท้องถิ่น การให้บริการรถเช่า ฯลฯ มีการขยายตัวควบคู่กันไป
 
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว น่าสนใจและมีศักยภาพ เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวได้หลายรูปแบบ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และสถานที่ท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม ที่หลากหลาย เนื่องจาก สปป.ลาว มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิต จารีตประเพณี ภาษา และการนุ่งห่มที่เป็นเอกลักษณ์ กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางมา สปป.ลาว แบ่งเป็น (1) กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งเดินทางท่องเที่ยวในหลายประเทศหลังเกษียณอายุ ส่วนใหญ่เดินทางมาจากยุโรปเพื่อมาพักผ่อน สนใจเรียนรู้วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ (2) กลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ วัยกลางคน ส่วนใหญ่มาจากสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศอาเซียน ซึ่งนิยมเดินทางมาเป็นคู่หรือแบบครอบครัว
(3) กลุ่มนักท่องเที่ยวไทย วัยกลางคนและสูงอายุ สนใจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ไว้พระ ทำบุญ
(4) กลุ่มนักท่องเที่ยวเกาหลี ส่วนใหญ่เดินทางมาเป็นคณะ ชอบการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและธรรมชาติ และตีกอล์ฟ (5) กลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ส่วนใหญ่เดินทางมาท่องเที่ยวในนครหลวงเวียงจันทน์ วังเวียง หลวงพระบาง นิยมมานวดผ่อนคลาย ซื้อของตลาดกลางคืน (6) กลุ่มนักท่องเที่ยวในรูปแบบจัดการประชุม MICE จากฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งมักเดินทางไปเขตท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับร่องรอยประวัติศาสตร์ และมรดกโลก ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น
 
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว เปิดรับนักลงทุนที่ประสงค์จะร่วมพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น โรงแรม สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ พนักงานและบุคลากรนำเที่ยวที่เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ เกาหลี และจีน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อเป็นของที่ระลึก การให้บริการสปา อาหาร การสร้าง platform ให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว และการสำรองห้องพัก เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะสามารถเข้ามาศึกษาช่องทางเพื่อร่วมมือในการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวใน สปป.ลาว
 
ก่อนสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2562 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมา สปป. ลาว
เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.44 เมื่อเทียบกับปีที่ 2561 โดยเป็นนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมากที่สุด 2,160,300 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.94 อันดับที่สองคือ จีน 1,022,727 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.92 และอันดับที่สามคือ เวียดนาม 924,875 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.60 (ข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ย. 2562) สามารถสร้างรายได้ให้แก่ สปป. ลาว 934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 5.14 ของ GDP ปัจจัยที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจาก สปป. ลาว มีพื้นที่ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางประเทศอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง มีเส้นทางหลวงหลายสายที่เชื่อมต่อกับหลายประเทศ รวมทั้งมีเส้นทางทางน้ำและเป็นจุดเชื่อมต่อ ทางอากาศไปยังประเทศต่าง ๆ อาทิ จีน เวียดนามไทย กัมพูชา นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรูปแบบ combined destination มักจะเดินทางมายัง สปป.ลาว
 

 

ปี จำนวนนักท่องเที่ยว
(คน)
รายได้
(ดอลลาร์สหรัฐ)
สัดส่วนของ GDP
2558 4,684,429 724,832,231 5.04
2559 4,239,047 716,121,209 4.53
2560 3,868,838 648,067,008 3.85
2561 4,186,432 811,010,661 4.52
2562 4,791,065 934,710,412 5.14

ข้อมูล: กรมโฆษณาการท่องเที่ยว กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว

 
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 สปป.ลาว ได้กลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมา สปป. ลาว 56,986 คน โดยภาครัฐเร่งดำเนินแผนพัฒนาการท่องเที่ยว สปป. ลาว 5 ปี (2564 – 2568) เพื่อเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกจัดทำข้อมูลข่าวสารการเดินทาง ที่พัก ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวและการบริการในแขวงต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์มาตรการเดินทางเข้ามาใน สปป. ลาวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้งพลิกวิกฤตปัญหาเงินกีบอ่อนค่าเป็นโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เนื่องจากสามารถนำเงินตราต่างประเทศมาแลกเป็นกีบได้มากขึ้นและใช้จ่ายคุ้มค่ากว่าเดิม
 
คาดว่าในปี 2565 ภาคท่องเที่ยวจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจ สปป. ลาว ให้ขยายตัวตามเป้าหมายที่รัฐบาลลาวตั้งไว้คือกำหนดให้ GDP ขยายตัวร้อยละ 4.5 (ภาคการบริการคิดเป็นร้อยละ 4.5 ของ GDP) เป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศ ช่วยสร้างเสถียรภาพดุลการชำระเงินและลดปัญหาการขาดแคลนเงินตรา เกิดการหมุนเวียนเงินตราและการกระจายรายได้ในส่วนท้องถิ่น โดยสังเกตได้จากภาคบริการเริ่มกลับมาให้บริการตามปกติและประกาศรับสมัครงานมากขึ้น จึงกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีศักยภาพสูงและน่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านท่องเที่ยว อาหาร โรงแรม และบริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
 
ข้อมูลอ้างอิง
แผนพัฒนาการท่องเที่ยว สปป. ลาว 5 ปี (2564 – 2568)
https://www.dropbox.com/sh/d6ynk7xfyvakmrb/AAD0RR6nZZVFFzhhelxp4gQNa?dl=0
http://www.sethakit-psx.la/detail10533.html
https://globthailand.com/laos-171220/

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ