วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 ก.พ. 2566

| 3,893 view

ภูมิหลัง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับราชอาณาจักรลาว เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2493 โดยกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้อุปทูตไทย ณ ไซง่อน ทาบทามผู้แทนลาวประจำไซง่อน ขอตั้งสถานกงสุล ณ เมืองเวียงจันทน์ ต่อมานายโง่น ชนะนิกร ผู้แทนลาว ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ตอบเห็นชอบและยินดีที่ไทยจะส่งผู้แทนไปประจำเวียงจันทน์ พร้อมแนะนำให้ไทยส่งเจ้าหน้าที่ไปเมืองเวียงจันทน์ เพื่อหาบ้านเช่าและซื้อที่ดินเป็นที่ทำการต่อไป

history-01

ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 นายวิกรม นินนาท ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองกงสุลรักษาราชการสถานกงสุล ได้ออกเดินทางพร้อมด้วยนายสงวน รุจิเทศ ไปรับหน้าที่ ณ เวียงจันทน์โดยทางรถไฟ

ในเบื้องต้น นายวิกรมฯ ได้เช่าบ้านเป็นที่ทำการสถานกงสุลและจ้างลูกจ้างท้องถิ่น จำนวน 2 คน ได้แก่ เสมียน 1 คน ทำหน้าที่รับงานติดต่อ และขับรถ-เรือ และคนสวน 1 คน ทำหน้าที่ทำสวน ภารโรง และยาม

ปี พ.ศ. 2496 และ พ.ศ. 2498 สถานกงสุลฯ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสถานอัครราชทูต และสถานเอกอัครราชทูต ตามลำดับ โดยมีพลจัตวา สมัย แววประเสริฐ เป็นอัครราชทูต และเอกอัครราชทูตคนแรก

 

อาคารภายในบริเวณสถานเอกอัครราชทูต

การซื้อที่ดิน (ครั้งที่ 1)

เมื่อแรกเปิดทำการสถานกงสุลฯ นายวิกรม นินนาท รองกงสุล รักษาราชสถานกงสุลต้องเช่าบ้านเอกชนเป็นสถานที่ทำการตลอดมา แม้กระทรวงการต่างประเทศประสงค์จะซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารที่ทำการ และที่พักข้าราชการ แต่ก็หาทำเลที่เหมาะสมไม่ได้

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 เป็นต้นมา พลจัตวาสมัย แววประเสริฐ เอกอัครราชทูตได้พยายามเจรจา ขอซื้อที่ดินหลายแห่งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินราษฎรลาว

ในที่สุด ในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 พลจัตวาสมัย แววประเสริฐ เอกอัครราชทูต ได้ตกลงซื้อที่ดินของนายบง สุวรรณวงศ์ ซึ่งมีพื้นที่ 6,059 ตารางเมตร (ประมาณ 3 ¾ ไร่) ตั้งอยู่ที่ถนน De Latter de Tassigny (ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็นถนนโพนเค็ง และถนนไกสอน พมวิหาน ตามลำดับ) บ้านนาไร่เดียว ตาแสง (ตำบล) วัดจัน แขวงเวียงจันทน์ ในราคา 714,286 กีบ หรือคิดเป็นเงินไทยอัตราแรกเปลี่ยนขณะนั้นประมาณ 200,000 บาท หรือคิดเป็นราคาตารางวาละ 133 บาท และได้ขึ้นทะเบียนราชพัสดุ หมายเลขทะเบียนที่ 15772

นายวิกรม_นินนาท

นายวิกรม นินนาท

พลจัตวาสมัย_แววประเสริฐ

พลจัตวาสมัย แววประเสริฐ

การก่อสร้างอาคาร

ในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2499 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ดำรงค์ ก่อสร้าง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาไทย ตั้งสำนักงานอยู่ที่ถนนทรงวาด จังหวัดพระนคร ให้ก่อสร้างอาคารที่พัก 2 หลัง โดยอาคารหลังหนึ่ง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ทรงไทย รูปทรงคล้ายศาลากลางจังหวัด ราคาค่าก่อสร้างเป็นเงิน 1,736,500 บาท ใช้เป็นทำเนียบของเอกอัครราชทูต และอาคารคอนกรีตสองชั้น ด้านหลังอาคารหลังแรก อีก 1 หลัง เพื่อใช้เป็นที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูต ราคาก่อสร้างเป็นเงิน 404,000 บาท โดยอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ นำมาจากฝั่งไทย การก่อสร้างอาคารทั้งสองหลังได้แล้วเสร็จ และส่งมอบให้สถานเอกอัครราชทูตฯ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2500

ในปีเดียวกันนั้น กระทรวงฯ ได้อนุมัติให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ก่อสร้างอาคารคอนกรีต 2 ชั้น หนึ่งหลัง เพื่อใช้เป็นเรือนรับรองของสถานเอกอัครราชทูตฯ ราคาค่าก่อสร้างเป็นเงิน 469,900 บาท และอาคารที่พักขนาดย่อมสำหรับลูกจ้างท้องถิ่นอีก 1 หลัง (ต่อมาอาคารหลังนี้ได้ถูกรื้อถอนเนื่องจากมีสถาพทรุดโทรมมาก ไม่สามารถใช้การได้) โดยกรมโยธาธิการได้รับมอบหมายให้ประกวดราคาและควบคุมการก่อสร้าง)

พล.อ.เกรียงศักดิ์_ชมะนันทน์_นายกรัฐมนตรี

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี
ปลูกต้นพิกุลหน้าสถานเอกอัครราชทูต
(ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

การซื้อที่ดิน (ครั้งที่ 2)

นายสมพันธ์_โกกิลานนท์

นายสมพันธ์ โกกิลานนท์

ในปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลไทย โดยนายสมพันธ์ โกกิลานนท์ เอกอัครราชทูต ได้จัดซื้อที่ดิน โฉนดเลขที่ 003 รหัส 001 003 0012 ตั้งอยู่ที่ ถนนโพนเค็ง (ปัจจุบัน ถนนไกสอน พมวิหาน) บ้านโพนไซ เมืองไซเสดถา กำแพงนครเวียงจันทน์ (ปัจจุบันคือนครหลวงเวียงจันทน์) บริเวณตรงข้ามกับดินแปลงแรก โดยมีถนนไกสอน พมวิหานกั้นกลาง เนื้อที่ 2,356 ตารางเมตร (589 ตารางวา) จากนางจันสะมุด หลวงโคดร ในราคา 13,003,200.00 บาท (504,000.00 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือตารางวาละ 20,076 บาท

เพื่อก่อสร้างเป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ หลังใหม่ และได้ขึ้นทะเบียนคุมที่ดินในต่างประเทศ จำแนกตามประเภท แปลงหมายเลขทะเบียนที่ 81

การซ่อมแซมใหญ่

ในระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 ได้เกิดเหตุการปฏิวัติในเวียงจันทน์ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2508 ลูกปืนครกขนาด 81 มม. กว่า 15 ลูก ได้ตกลงถูกอาคารภายใน

สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และยังเกิดเหตุการณ์อันสลดใจ ที่สะเก็ดระเบิดถูก นายโชติ พรโสภณ เลขานุการโท (ชั้น 2) ซึ่งกำลังปฏิบัติงานอยู่ในห้องตรวจลงตราถึงแก่มรณกรรมภายในที่ทำการ

ในปี พ.ศ. 2508 สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงจำเป็นต้องซ่อมแซมอาคารทั้งสามหลัง โดยฉาบปูน ปิดรอยกระสุนต่างๆ ทาสีอาคารใหม่ เปลี่ยนหลังคากระเบื้องที่เสียหายจากระเบิด เป็นต้น

ห้องจัดเลี้ยงของทำเนียบเอกอัครราชทูต

ห้องจัดเลี้ยงของทำเนียบเอกอัครราชทูต

ในปีงบประมาณ 2543 กระทรวงการต่างประเทศได้อนุมัติให้สถานเอกอัครราชทูตซ่อมแซมอาคารสถานเอกอัครราชทูตฯ ทั้งสามหลัง ซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม และสร้างโรงรถและเรือนพักขนาดย่อม ชั้นล่างเป็นคอนกรีต ชั้นบนเป็นไม้ เป็นที่พักของลูกจ้างของสถานเอกอัครราชทูตฯ ในวงเงินรวม 7,127,930 บาท โดยบริษัทสากล วิลเลจ (บริษัทของคนไทย จดทะเบียนในประเทศลาว) ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการ และได้ส่งมอบการซ่อมแซม และการก่อสร้างดังกล่าวให้แก่สถานเอกอัครราชทูตฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2544

ในเดือนกันยายน 2550 บริษัทโจและทินกร ได้รับเลือกให้ตกแต่งภายในทำเนียบเอกอัครราชทูตใหม่ ซึ่งดำเนินการแล้วสำเร็จเมื่อกลางปี 2551

สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์

แหล่งข้อมูล
1. บทความเรื่อง สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ โดยคณะทำงานตรวจสอบ เอกสาร กระทรวงการต่างประเทศ จัดพิมพ์ในหนังสือ สราญรมย์ (ปี 2543)
2. เอกสารจากแฟ้มทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
3. โฉนดที่ดินและสัญญาซื้อขายที่ดินของสถานเอกอัครราชทูตฯ
4. การสัมภาษณ์ลูกจ้างท้องถิ่นของสถานเอกอัครราชทูตฯ