โอกาสและความท้าทายในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าใน สปป. ลาว

โอกาสและความท้าทายในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าใน สปป. ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ม.ค. 2566

| 590 view
โอกาสและความท้าทายในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าใน สปป. ลาว
 
ปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลกทั้งในด้านราคา เทคโนโลยีแบตเตอรี่ หลายประเทศเริ่มเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาระบบสถานีชาร์จไฟฟ้าตามสถานที่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดมลพิษทางอากาศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และลดกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐหลายประเทศมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาทิ ยกเว้นภาษีจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนลดภาษีรถยนต์รายปี ให้ชาร์จไฟในจุดชาร์จสาธารณะ ให้เงินอุดหนุน ฟรีค่าผ่านทางและอื่น ๆ
 
สปป. ลาว รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้ใช้งาน รวมทั้งภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีมติเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 ว่าด้วยนโยบายและแนวทางการดำเนินปฏิบัติในการเปลี่ยนไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับวาระแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการคลัง โดยเฉพาะมาตรการประหยัด ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลดการรั่วไหลของเงินตราต่างประเทศ อีกทั้งเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า ที่สปป. ลาวมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า มีค่าไฟฟ้าถูกกว่าพื้นที่อื่น ๆ มีแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานทดแทนหลายแห่ง ซึ่งการส่งเสริมใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยให้รัฐบาลมีแหล่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
 
สปป. ลาว เปิดรับนักลงทุนที่มีความสนใจลงทุนในกิจการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า หรือร่วมพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาทิ ศูนย์ซ่อมบำรุง ศูนย์ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่และประกอบเพื่อใช้ภายใน หรือส่งออก ผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จไฟฟ้าตามจุดแวะพักรถ เป็นต้น โดยมีนโยบายพิเศษในการนำเข้าและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 0 ภาษีสรรพสามิตร้อยละ 3 ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 และไม่จำกัดโควตานำเข้าเพื่อให้สามารถแข่งขันด้านราคาอีกด้วย
 
ภาครัฐเป็นต้นแบบของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าใน สปป. ลาว โดยเริ่มจากรถประจำตำแหน่งของรัฐ จากนั้นจะผลักดันให้รัฐวิสาหกิจ ขนส่งสาธารณะ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าจำนวนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 1 หรือประมาณ 20,000 คัน ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์ 8,000 คัน รถโดยสารประจำทางและรถบรรทุกขนาดเล็ก 150 คัน และรถยนต์ส่วนบุคคล 11,850 คันและกำหนดแผนพัฒนาสถานีชาร์จให้ได้อย่างน้อย 50 สถานี โดยจะเปลี่ยนจากสถานีบริการน้ำมันมาเป็นสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าตามเส้นทางหลวงและตัวเมืองใหญ่ภายในปี 2568 และเพิ่มจำนวนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 และติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า 100 สถานีภายในปี 2573
 
ปัจจุบัน สปป. ลาว มีบริษัทตัวแทนจำหน่ายและนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายจำนวน 10 แห่ง และบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้าจำนวน 10 แห่ง สถานีชาร์จไฟฟ้า 16 จุด โดย 1 จุดเป็นระบบชาร์จไฟฟ้าแบบเร็ว นอกจากนี้ สปป. ลาวอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดแผนพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยกำหนดระยะทางทุก ๆ 100 กิโลเมตร ให้มีสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบเร็ว 5 ตู้ โดยเฉพาะตามเส้นทางหลวงแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ – อัดตะปือและนครหลวงเวียงจันทน์ – หลวงพระบาง จากข้อมูลกรมนำเข้าและส่งออก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว ระบุว่า มีการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าจากการช่วยเหลือขององค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชนนำเข้าเพื่อใช้ในโครงการ และนำเข้าเพื่อจำหน่ายใน สปป. ลาวแล้วประมาณ 300 คัน (ไม่รวมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า) และตามข้อมูลแผนกโยธาธิการและขนส่ง นครหลวงเวียงจันทน์ มีรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 166 คัน
 
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าใน สปป. ลาวยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน อาทิ (1) การประสานงาน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีความยุ่งยาก และใช้เวลานาน (2) สถานีชาร์จไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้งบประมาณสูง ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ใช้เวลาชาร์จนานขึ้นกับลักษณะ เทคนิคและเทคโนโลยีของรถแต่ละรุ่น (3) หากพัฒนาระบบสถานีชาร์จไฟมีความจุแรงดันไฟฟ้าสูงเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อตัวรถ (4) หากไฟฟ้าบ้านไม่มีความเสถียรหรือไม่เพียงพอก็อาจส่งผลกระทบต่อแบตเตอรี่ได้ และ (5) ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนและออกทะเบียนเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ