วันที่นำเข้าข้อมูล 10 Jan 2023

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 Jan 2023

| 1,569 view

การขอจดทะเบียนหย่า

การขอจดทะเบียนหย่าที่สำนักทะเบียนสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์

          การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายกระทำได้ 2 วิธี คือ การจดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียน และการจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน

  1. การจดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียน (คู่หย่ายื่นคำร้องที่สำนักทะเบียนเดียวกัน)

1.1 เอกสารที่ใช้เพื่อการจดทะเบียนหย่า

  1. คำร้องขอนิติกรณ์ (แบบฟอร์ม)
  2. 2. คำร้องขอจดทะเบียนหย่า (แบบฟอร์ม)
  3. 3. สัญญาหย่าโดยความยินยอม (แบบฟอร์ม)
  4. ทะเบียนสมรส
  5. บัตรประจำตัวประชาชน
  6. Passport
  7. สำเนาทะเบียนบ้านไทย
  8. สำเนาทะเบียนบ้านในต่างประเทศ ที่ออกให้เป็นภาษาอังกฤษ
  9. พยานบุคคลจำนวน 2 คน โดยนำบัตรประจำตัวประชาชน และ/หรือ หนังสือเดินทางมาด้วย

     1.2 ขั้นตอนการขอจดทะเบียนหย่า

  1. เตรียมเอกสารตามที่กำหนด และส่งสำเนาเอกสารดังกล่าว ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ตรวจสอบโดยจะใช้เวลาตรวจสอบเอกสารประมาณ 3-5 วันทำการ
  2. หากเอกสารครบถ้วน สถานเอกอัครราชทูตฯ จะนัดคู่หย่าทั้งสองฝ่ายและพยานมายื่นเอกสารเพื่อขอจดทะเบียนหย่าต่อหน้านายทะเบียน เพื่อออกทะเบียนหย่า และใบสำคัญการหย่า
  3. เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว และหากมีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลภายหลังการหย่า จะต้องดำเนินการแก้ไขข้อมูลทะเบียนราษฎรและทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ ณ เขต/อำเภอตามทะเบียนบ้านไทย และควรทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่

 

  1. การขอจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน

     การหย่าต่างสำนักทะเบียน คือ การหย่าโดยความยินยอมของคู่หย่าทั้งสองฝ่าย โดยคู่หย่าไม่สามารถเดินทางไปจดทะเบียนหย่า ณ สำนักทะเบียนเดียวกันได้ ทั้งนี้ คู่หย่าจะต้องตกลงกันว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนก่อนที่สำนักทะเบียนใด และจะให้สำนักทะเบียนใดเป็นผู้จดทะเบียนหย่าให้คู่หย่าอีกฝ่าย การหย่าจะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการจดทะเบียน ณ สำนักทะเบียนแห่งที่ 2 เรียบร้อยแล้ว

     2.1 สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เป็นสำนักทะเบียนแห่งที่ 1

          คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว เป็นผู้เริ่มยื่นขอจดทะเบียนหย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยเอกสารการขอจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียนจะถูกส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนแห่งที่ 2 (ตามที่แจ้ง) ทั้งนี้ สำนักทะเบียนแห่งที่ 2 จะเป็นสำนักทะเบียนที่ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่า

              ขั้นตอนดำเนินการ

  • คู่หย่าจัดทำหนังสือสัญญาหย่า
    • หนังสือสัญญาหย่าต้องระบุรายละเอียดต่างๆ เช่น ข้อตกลงเรื่องทรัพย์สิน บุตร และอื่น ๆ รวมทั้งคำนำหน้าชื่อฝ่ายหญิงหลังการหย่า โดยคู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ที่ สปป. ลาว และพยาน 2 คน จะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาหย่าต่อหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต/อำเภอ/สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ และให้เจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อและประทับตรารับรองลายมือชื่อของคู่หย่าและพยานด้วย (ส่วนช่องลายมือชื่อคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ สปป. ลาว ให้เว้นว่างไว้ เพื่อมาลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์) และส่งหนังสือสัญญาหย่ามาให้คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ สปป. ลาว ยื่นขอจดทะเบียนหย่า
    • คำแนะนำในการจัดทำหนังสือสัญญาหย่า
  • โปรดระบุจำนวนบุตร ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด และอายุของบุตรแต่ละคน (ปีบริบูรณ์) หากมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์) ต้องระบุผู้ที่จะมีอำนาจปกครองบุตรภายหลังการหย่าด้วย หากไม่มีบุตรร่วมกัน ให้ระบุว่า “ไม่มี”
  • ถ้าไม่ต้องการระบุข้อตกลงในการหย่าเรื่องทรัพย์สินให้เขียนว่า “ไม่ระบุ”
  • ถ้าไม่ต้องการระบุข้อตกลงในการหย่าเรื่องอื่นๆ ให้เขียนว่า “ไม่มี”
  • สำเนาเอกสารประจำตัวของคู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ที่ สปป. ลาว และพยานทั้ง 2 คน ต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต/อำเภอ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ เช่น สำเนาหนังสือเดินทาง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ฯลฯ
  • คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว ยื่นขอจดทะเบียนหย่ากับนายทะเบียน ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
    • เตรียมเอกสารตามที่กำหนดในข้อ 1 และส่งสำเนาเอกสารดังกล่าว ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ตรวจสอบโดยจะใช้เวลาตรวจสอบเอกสารประมาณ 3-5 วันทำการ
    • หากเอกสารครบถ้วน สถานเอกอัครราชทูตฯ จะนัดคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาวมายื่นเอกสารเพื่อขอจดทะเบียนหย่าต่อหน้านายทะเบียน
    • คำแนะนำในการกรอกคำร้องขอจดทะเบียนหย่า
  • ฝ่ายหญิงต้องระบุนามสกุลเดิมก่อนสมรส (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ)
  • ระบุอายุที่ครบปีบริบูรณ์
  • เว้นว่างช่องลายมือชื่อคู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ที่ สปป. ลาว
  • เว้นว่างช่องข้อมูลนายทะเบียน
  • สถานเอกอัครราชทูตฯ จะจัดส่งเอกสารการหย่าต่างสำนักทะเบียนผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนแห่งที่ 2 (ตามที่แจ้ง) เพื่อนัดหมายให้คู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ใน สปป. ลาว พร้อมพยาน 2 คน มาลงลายมือชื่อ และออกทะเบียนหย่าและใบสำคัญการหย่า ซึ่งสำนักทะเบียนแห่งที่ 2 จะมอบใบสำคัญการหย่าให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ใน สปป. ลาว 1 ฉบับ และจะจัดส่งใบสำคัญการหย่าอีกฉบับผ่านกระทรวงการต่างประเทศมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อมอบให้คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว

 

           2.2 สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เป็นสำนักทะเบียนแห่งที่ 2

              คู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ใน สปป. ลาว เป็นผู้เริ่มยื่นขอจดทะเบียนหย่าที่สำนักทะเบียนอื่น โดยเอกสารการขอจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียนจะถูกส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ เมื่อได้รับเอกสารสถานเอกอัครราชทูตฯ จะติดต่อคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว มาเพื่อจดทะเบียนหย่า โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ จะเป็นสำนักทะเบียนที่ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่า

            ขั้นตอนดำเนินการ

  • เมื่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับเอกสารการหย่าจากสำนักทะเบียนแห่งที่ 1 ผ่านกระทรวงการต่างประเทศแล้ว จะดำเนินการติดต่อคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว พร้อมพยาน 2 คนมาลงลายมือชื่อในเอกสารการหย่าในวันนัดหมาย โดยคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว จะต้องจัดเตรียมเอกสารในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 1 ข้างต้น
  • สถานเอกอัครราชทูตฯ จะมอบใบสำคัญการหย่าให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว ในวันที่จดทะเบียนหย่า และจะส่งใบสำคัญการหย่าอีกฉบับผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนแห่งที่ 1 เพื่อมอบให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ใน สปป. ลาวต่อไป