วันที่นำเข้าข้อมูล 10 Jan 2023
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 Jan 2023
| 1,681 view
การขอจดทะเบียนหย่า
การขอจดทะเบียนหย่าที่สำนักทะเบียนสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายกระทำได้ 2 วิธี คือ การจดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียน และการจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน
- การจดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียน (คู่หย่ายื่นคำร้องที่สำนักทะเบียนเดียวกัน)
1.1 เอกสารที่ใช้เพื่อการจดทะเบียนหย่า
- คำร้องขอนิติกรณ์ (แบบฟอร์ม)
- 2. คำร้องขอจดทะเบียนหย่า (แบบฟอร์ม)
- 3. สัญญาหย่าโดยความยินยอม (แบบฟอร์ม)
- ทะเบียนสมรส
- บัตรประจำตัวประชาชน
- Passport
- สำเนาทะเบียนบ้านไทย
- สำเนาทะเบียนบ้านในต่างประเทศ ที่ออกให้เป็นภาษาอังกฤษ
- พยานบุคคลจำนวน 2 คน โดยนำบัตรประจำตัวประชาชน และ/หรือ หนังสือเดินทางมาด้วย
1.2 ขั้นตอนการขอจดทะเบียนหย่า
- เตรียมเอกสารตามที่กำหนด และส่งสำเนาเอกสารดังกล่าว ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ตรวจสอบโดยจะใช้เวลาตรวจสอบเอกสารประมาณ 3-5 วันทำการ
- หากเอกสารครบถ้วน สถานเอกอัครราชทูตฯ จะนัดคู่หย่าทั้งสองฝ่ายและพยานมายื่นเอกสารเพื่อขอจดทะเบียนหย่าต่อหน้านายทะเบียน เพื่อออกทะเบียนหย่า และใบสำคัญการหย่า
- เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว และหากมีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลภายหลังการหย่า จะต้องดำเนินการแก้ไขข้อมูลทะเบียนราษฎรและทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ ณ เขต/อำเภอตามทะเบียนบ้านไทย และควรทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่
- การขอจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน
การหย่าต่างสำนักทะเบียน คือ การหย่าโดยความยินยอมของคู่หย่าทั้งสองฝ่าย โดยคู่หย่าไม่สามารถเดินทางไปจดทะเบียนหย่า ณ สำนักทะเบียนเดียวกันได้ ทั้งนี้ คู่หย่าจะต้องตกลงกันว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนก่อนที่สำนักทะเบียนใด และจะให้สำนักทะเบียนใดเป็นผู้จดทะเบียนหย่าให้คู่หย่าอีกฝ่าย การหย่าจะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการจดทะเบียน ณ สำนักทะเบียนแห่งที่ 2 เรียบร้อยแล้ว
2.1 สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เป็นสำนักทะเบียนแห่งที่ 1
คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว เป็นผู้เริ่มยื่นขอจดทะเบียนหย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยเอกสารการขอจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียนจะถูกส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนแห่งที่ 2 (ตามที่แจ้ง) ทั้งนี้ สำนักทะเบียนแห่งที่ 2 จะเป็นสำนักทะเบียนที่ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่า
ขั้นตอนดำเนินการ
- คู่หย่าจัดทำหนังสือสัญญาหย่า
- หนังสือสัญญาหย่าต้องระบุรายละเอียดต่างๆ เช่น ข้อตกลงเรื่องทรัพย์สิน บุตร และอื่น ๆ รวมทั้งคำนำหน้าชื่อฝ่ายหญิงหลังการหย่า โดยคู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ที่ สปป. ลาว และพยาน 2 คน จะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาหย่าต่อหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต/อำเภอ/สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ และให้เจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อและประทับตรารับรองลายมือชื่อของคู่หย่าและพยานด้วย (ส่วนช่องลายมือชื่อคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ สปป. ลาว ให้เว้นว่างไว้ เพื่อมาลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์) และส่งหนังสือสัญญาหย่ามาให้คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ สปป. ลาว ยื่นขอจดทะเบียนหย่า
- คำแนะนำในการจัดทำหนังสือสัญญาหย่า
- โปรดระบุจำนวนบุตร ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด และอายุของบุตรแต่ละคน (ปีบริบูรณ์) หากมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์) ต้องระบุผู้ที่จะมีอำนาจปกครองบุตรภายหลังการหย่าด้วย หากไม่มีบุตรร่วมกัน ให้ระบุว่า “ไม่มี”
- ถ้าไม่ต้องการระบุข้อตกลงในการหย่าเรื่องทรัพย์สินให้เขียนว่า “ไม่ระบุ”
- ถ้าไม่ต้องการระบุข้อตกลงในการหย่าเรื่องอื่นๆ ให้เขียนว่า “ไม่มี”
- สำเนาเอกสารประจำตัวของคู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ที่ สปป. ลาว และพยานทั้ง 2 คน ต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต/อำเภอ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ เช่น สำเนาหนังสือเดินทาง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ฯลฯ
- คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว ยื่นขอจดทะเบียนหย่ากับนายทะเบียน ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
- เตรียมเอกสารตามที่กำหนดในข้อ 1 และส่งสำเนาเอกสารดังกล่าว ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ตรวจสอบโดยจะใช้เวลาตรวจสอบเอกสารประมาณ 3-5 วันทำการ
- หากเอกสารครบถ้วน สถานเอกอัครราชทูตฯ จะนัดคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาวมายื่นเอกสารเพื่อขอจดทะเบียนหย่าต่อหน้านายทะเบียน
- คำแนะนำในการกรอกคำร้องขอจดทะเบียนหย่า
- ฝ่ายหญิงต้องระบุนามสกุลเดิมก่อนสมรส (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ)
- ระบุอายุที่ครบปีบริบูรณ์
- เว้นว่างช่องลายมือชื่อคู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ที่ สปป. ลาว
- เว้นว่างช่องข้อมูลนายทะเบียน
- สถานเอกอัครราชทูตฯ จะจัดส่งเอกสารการหย่าต่างสำนักทะเบียนผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนแห่งที่ 2 (ตามที่แจ้ง) เพื่อนัดหมายให้คู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ใน สปป. ลาว พร้อมพยาน 2 คน มาลงลายมือชื่อ และออกทะเบียนหย่าและใบสำคัญการหย่า ซึ่งสำนักทะเบียนแห่งที่ 2 จะมอบใบสำคัญการหย่าให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ใน สปป. ลาว 1 ฉบับ และจะจัดส่งใบสำคัญการหย่าอีกฉบับผ่านกระทรวงการต่างประเทศมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อมอบให้คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว
2.2 สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เป็นสำนักทะเบียนแห่งที่ 2
คู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ใน สปป. ลาว เป็นผู้เริ่มยื่นขอจดทะเบียนหย่าที่สำนักทะเบียนอื่น โดยเอกสารการขอจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียนจะถูกส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ เมื่อได้รับเอกสารสถานเอกอัครราชทูตฯ จะติดต่อคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว มาเพื่อจดทะเบียนหย่า โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ จะเป็นสำนักทะเบียนที่ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหย่า
ขั้นตอนดำเนินการ
- เมื่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับเอกสารการหย่าจากสำนักทะเบียนแห่งที่ 1 ผ่านกระทรวงการต่างประเทศแล้ว จะดำเนินการติดต่อคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว พร้อมพยาน 2 คนมาลงลายมือชื่อในเอกสารการหย่าในวันนัดหมาย โดยคู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว จะต้องจัดเตรียมเอกสารในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 1 ข้างต้น
- สถานเอกอัครราชทูตฯ จะมอบใบสำคัญการหย่าให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ใน สปป. ลาว ในวันที่จดทะเบียนหย่า และจะส่งใบสำคัญการหย่าอีกฉบับผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังสำนักทะเบียนแห่งที่ 1 เพื่อมอบให้แก่คู่หย่าฝ่ายที่ไม่ได้อยู่ใน สปป. ลาวต่อไป